รัฐบาลทหารของไทย เดินหน้าจัดการขั้นรุนแรงกับผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ไม่สนเสียงเรียกร้องนานาชาติ นับแต่หลังรัฐประหาร 2557 มีผู้ถูกตั้งข้อหา ม. 112 ไปแล้วกว่าร้อยราย ล่าสุด วันนี้ (9 ส.ค.) ศาลทหารสั่งจำคุกพ่อค้ายาสมุนไพร ชาวนครปฐม รวม 20 ปี
ในวันนี้ ศาลทหารกรุงเทพ ได้นัดฟังคำพิพากษาคดี ม. 112 ของนายธารา (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกฟ้องว่า เอาลิงก์ของคลิปเสียงเครือข่าย "บรรพต" ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไปเผยแพร่บนเว็บไซต์เรื่องสุขภาพของตนเองจำนวน 6 ครั้ง โดยเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558
ไอลอว์ ระบุว่า ศาลพิเคราะห์การกระทำของจำเลย แล้วว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม. 14 (1) (3) (5) ให้ลงโทษบทหนัก คือ ม. 112
ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกรรมละ 5 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือกรรมละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยกระทำความผิดคิดเป็น 6 กรรม รวมโทษจำคุกเป็น 18 ปี 24 เดือน โดยเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558
คำพิพากษามีขึ้น 1 วัน หลังจากเมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวของข่าวสดอิงลิช ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาความผิดในข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 116 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว
ขณะที่ในวันนี้ (9 ส.ค.) องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรคุ้มครองสื่อระดับโลกเดินหน้าเรียกร้องทางการไทยยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และดำเนินคดีกับกลุ่มผู้เห็นต่าง
ข้อมูลจากสำนักข่าวเอเอฟพี และเว็บไซต์ไอลอว์ ซึ่งให้ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ระบุว่า นับแต่การทำรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา มีผู้ถูกตั้งข้อหาในความผิดตาม ม. 112 และ 116 แล้วกว่า 100 ราย
ขณะเดียวกันในวันนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด มีความผิดฐานขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. โดยสั่งจำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 1 ปี
ส่วนเมื่อวานนี้ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช พร้อมด้วยทนายความเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาความผิดใน ม. 116 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ
เว็บไซต์ประชาไท รายงานอ้างนายประวิตรที่กล่าวยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่า ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ตนได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. อย่างสุดใจ เป็นไปตามสิทธิของสื่อมวลชนและพลเมืองที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเป็นการรักษาพื้นที่การแสดงออกของสื่อและพลเมืองที่มีอยู่น้อยนิด เสรีภาพนั้นจะไม่สามารถปกป้องได้ หากไม่พร้อมที่จ่ายมันด้วยราคาที่มาก ในฐานะที่ตนเป็นพลเมืองและสื่อ ก็จะต้องแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกอันน้อยนิดในสังคมไทยกรณีที่เกิดขึ้นทำให้ องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการคุ้มครองสื่อมวลชน (ซีพีเจ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยถอนข้อหานายประวิตรในทันที และปล่อยให้สื่อมวลชนทำงานได้อย่างเสรี โดยไม่มีการคุกคามสื่อไปมากกว่านี้
เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ คสช. ยุติการคุกคามและละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยชี้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา คสช. ได้ใช้อำนาจในการออกประกาศ คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. อันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการ และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็มิได้ผ่อนคลายลงแต่อย่างใดกลับมีกระบวนการที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น โดยมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และฝ่ายต่าง ๆ เพื่อปิดปากประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ทั้งเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับบุคคลไปตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด
ที่มา : BBC
EmoticonEmoticon