วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

โลกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-ก้าวหน้า ไม่เคยคิด ? by เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

"โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด และเรามักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่ได้คิดเอาไว้แล้วล่วงหน้า" คือมุมมองที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ใช้ในชีวิตส่วนตัว

ทว่าวันนี้เขานำมันมาวิเคราะห์สังคม-อ่านปรากฏการณ์ในบ้านเมือง ในระหว่างกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.เสกสรรค์ขยายความว่า คนเราจะเห็นโลกแบบไหน ขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดที่มี-ที่รู้จัก เข้าทำนอง "พ่อครัวไม่สนใจเรื่องสีสันของไก่เท่ากับเนื้อของมัน หรือศิลปินก็อาจจะเห็นแต่ความงามของไก่จนลืมนึกถึงด้านที่เป็นอาหาร" แม้มนุษย์เห็นโลกได้จำกัดและแตกต่างกัน ทว่าส่วนใหญ่กลับมีแนวโน้มเชื่อว่าโลกที่ตัวเองเห็นเป็นโลกแห่งความจริง จากนั้นก็ผลิตความเห็นออกมายืนยันสายตาของตน-โต้แย้ง-ทะเลาะกับคนอื่นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน
ตลอดเวลากว่า 10 ปีของความขัดแย้ง ดร.เสกสรรค์เห็นความรุนแรงระดับ "ไม่มีใครฟังใคร" โดยแบ่งชุดความคิดที่ขัดแย้งกันออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ แนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่อยากรักษาสถานภาพเดิม เพราะเห็นว่า "โลกใหม่คือสังคมที่ปนเปื้อน" ควรกลับไปสู่โลกเก่าที่ถูกต้องดีงามกว่า กับแนวคิดของฝ่ายก้าวหน้า ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกเพราะเห็นว่าความถูกต้องดีงามรออยู่ในอนาคต
นักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า "คนอยากเลือกตั้ง" เรียกร้องให้นักการเมืองร่วมการชุมนุมกับประชาชนเพื่อกดดันให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
คำบรรยายภาพนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า "คนอยากเลือกตั้ง" เรียกร้องให้นักการเมืองร่วมการชุมนุมกับประชาชนเพื่อกดดันให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา
ข้อสังเกตของอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์คือ ทฤษฎีใหม่ ๆ ในทางสังคมการเมืองถูกคิดขึ้นน้อยมาก แต่หนักในทางผลิตซ้ำ-ส่งทอดจาก 2 แหล่งคือ ยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้ว กับโลกภายนอก อีกทั้งยังมีสัดส่วนไม่กลมกลืนกับสภาพที่เป็นอยู่ ทำให้ความขัดแย้งทางความคิดในไทยมีลักษณะคล้าย "ความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งออกไปในทางศรัทธาความเชื่อ"
"สังคมไทยกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงระหว่างความคิด 2 กระแส โดยฝ่ายอนุรักษนิยมมีปัญหาเรื่อง 'กาละ' ส่วนฝ่ายก้าวหน้ามีปัญหาเรื่อง 'เทศะ' และทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโลกของผู้อื่นให้ตรงกับความคิดของฝ่ายตน" ดร.เสกสรรค์กล่าว
ก่อนขยายความว่า ฝ่ายแรกต้องการนำความคิด ความเชื่อ และคุณค่าจากสมัยเก่ากลับมาอยู่ในกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ขณะที่ฝ่ายหลังพบว่าการนำแนวคิดจากโลกภายนอกมาไว้ในพื้นที่อันไม่ใช่เนื้อดินถิ่นกำเนิดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
เสกสรรค์ ประเสริฐกุลImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ต่อไปนี้คือข้อวิเคราะห์-วิจารณ์คู่ขัดแย้งทางความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ที่ ดร.เสกสรรค์ชี้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างแข่งกันบรรจุชุดความคิดของตนลงใน space and time (พื้นที่และเวลา) ของประเทศไทยปัจจุบัน ทั้งนี้บีบีซีไทยได้สรุปใจความสำคัญและเลือก "วรรคทอง" ของเขาในเวทีปาฐกถานี้มานำเสนอ

1. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม : รัฐ-ชนชั้นนำต่างเป็น reference กัน

รัฐไทยโดยผ่านระบบการศึกษา และเครื่องมือบังคับควบคุม สามารถผลิตซ้ำชุดความคิดอนุรักษ์ในรูปของ "อุดมการณ์แห่งรัฐ" และ "อัตลักษณ์ของชาติ" ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีชนชั้นที่ใกล้ชิดอำนาจรัฐ-ประชากรที่ชอบเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ คอยขานรับและขยายต่อในรูปแบบไม่เป็นทางการ กลายเป็น reference (รายการอ้างอิง) ให้กันและกัน
  • "รัฐอ้างสังคมในการสร้างความชอบธรรมของอำนาจ สังคมส่วนที่เอ่ยถึงก็อิงกรอบอุดมการณ์ของรัฐในการรักษาผลประโยชน์และปรุงแต่งสถานภาพ กระทั่งใช้มันมาเสริมขยายอัตตาของตน"

2. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม : การเมืองของคนดี

จินตนาการที่มีพลังที่สุดของฝ่ายอนุรักษนิยมคือแนวคิดเรื่อง "ความเป็นคนดี" ซึ่งผูกโยงกับเรื่องศีลธรรม บุญบาป แต่ตัดขาดประเด็นชนชั้น กลุ่มผลประโยชน์ ตลอดจนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม กล่าวคือ "ดีชั่วไม่จำเป็นต้องมีบริบทห้อมล้อม" แต่คนไทยต้องเป็นคนดี สังคมไทยต้องเป็นสังคมของคนดี และผู้ปกครองประเทศไทยต้องเป็นคนดี อีกทั้ง "ความเป็นคนดี" มักมีนัยสัมพันธ์ทางอำนาจและเชื่อมโยงกับความคิดอำนาจนิยม กลายเป็นฐานคิดที่สนับสนุนให้คนจำนวนน้อยมีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่
การชุมนุมของ กปปส. บริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยImage copyrightGETTY IMAGES
แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นที่สุดในช่วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสนับสนุนรัฐประหารเมื่อต้นปี 2557 ซึ่งผู้นำการชุมนุมยืนยันว่าคนเราไม่เท่ากัน อำนาจทางการเมืองควรอยู่ในมือของคนดีเท่านั้น และคนไม่ดีไม่ควรมีสิทธิในเรื่องการเมืองปกครอง
  • "เป็นการเอาความเป็นคนดีมาใช้สร้างอัตตารวมหมู่ เป็น Collective Ego ซึ่งก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้ประท้วง ขณะเดียวกันก็กดเหยียดฝ่ายตรงข้ามให้มีฐานะต่ำกว่าในทางศีลธรรม อันนี้แน่นอนเป็นการปูทางไปสู่การจะทำอย่างไรก็ได้ จะจัดการอย่างไรก็ได้กับฝ่ายที่ถูกระบุไว้แล้วว่าเป็นคนไม่ดี"
  • "คนไม่ดีในสายตาของฝ่ายที่ถือว่าตัวเองเป็นคนดีนั้น ไม่ได้มีแค่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากยังรวมประชาชนที่เลือกรัฐบาลดังกล่าวด้วย ดังนั้นผู้ที่พวกเขาต้องการตัดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองจึงไม่ได้มีแค่นักการเมือง หากยังรวมถึงชาวบ้านนับล้านหรือประชาชนทั่วทั้งประเทศ"
  • "เมื่อมองจากบริบทที่ห้อมล้อมเหตุการณ์ในปี 2557 เราจะพบว่าความเป็นคนดีหรือคนไม่ดีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น มีลักษณะสอดประสานกับฐานะทางชนชั้นของแต่ละฝ่ายอย่างแยกไม่ออก แถวหน้าสุดของกลุ่ม 'คนดี' มักจะหมายถึงคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาสูง ส่วน 'คนไม่ดี' ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท หรือคนชั้นกลางชั้นล่างในเมือง ซึ่งส่วนมากมีการศึกษาน้อยกว่าและมีรายได้ค่อนไปในทางต่ำ"
เสกสรรค์ ประเสริฐกุลImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ปรากฏการณ์ "คนดี" ทำให้ ดร.เสกสรรค์นึกถึงประเด็นพื้นฐานของปรัชญาการเมืองคือใครควรมีสิทธิเป็นผู้ปกครอง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพลโต นักปราชญ์ชาวกรีก เคยเสนอว่าอำนาจการเมืองไม่ควรอยู่ในมือคนทั่วไปที่สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน หากควรอยู่ในมือชนส่วนน้อยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คนกลุ่มนี้จะต้องมีทั้งความปรีชาสามารถ คุณธรรมสูงส่ง ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว ใช้ชีวิตรวมหมู่ ไม่มีกระทั่งครอบครัว และต้องทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง
  • "ถามว่าแล้ว 'ความเป็นคนดี' ในประเทศไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับชนชั้นปกครองของเพลโตหรือไม่ คำตอบคือแค่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวก็สอบไม่ผ่านแล้ว เรื่องภูมิปัญญาก็ไม่แน่นัก อย่าว่าแต่เรื่องครองตัวเป็นโสดปราศจากครอบครัว"
เขาเห็นว่า ความดี-ความเลวสามารถพิจารณาได้จากหลายมุม ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายมานิยามกฎเกณฑ์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเห็นชอบในเรื่องผิด ถูก ดี ชั่ว ในระดับที่พอเพียงต่อการจรรโลงสังคม และแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกับ "ความเป็นคนดี"

3. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม : ถ้าไม่เชื่อฟังรัฐ "ความเป็นไทยบกพร่อง"

แนวคิด "ความเป็นไทย" เป็นสิ่งที่รัฐไทยสร้างขึ้นล้วน ๆ มีไว้ใช้กับคนในประเทศมากกว่าใช้ต่อต้านต่างชาติอย่างจริงจัง จุดเน้นอยู่ที่ความจงรักภักดีและเชื่อฟังรัฐ ใครทำตัวเป็นเด็กดี คนนั้นจึงจะถูกนับเป็นคนไทย ใครที่คิดเห็นต่างจากรัฐ ก็มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นคนไทย กระทั่งถูกขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น ยิ่งในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 คนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ พูดถึงประชาธิปไตย หรือพูดถึงหลักสิทธิมนุษยชน ล้วนแต่ถูกเพ่งเล็งว่า "ความเป็นไทยบกพร่อง"
ประชาชนให้กำลังใจทหารบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557Image copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพประชาชนให้กำลังใจทหารบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
อย่างไรก็ตามการปกป้องระบอบอำนาจนิยมโดยเชิดชูความเป็นไทย ด้วยการระบุว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดของโลกตะวันตก อาจไม่เหมาะหรือใช้การไม่ได้กับประเทศไทย เขาเห็นว่าเป็นอันตรายต่อความปรองดองในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแนวคิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยกลายเป็นคุณค่าสากลมานานแล้ว และคนไทยจำนวนมากก็ศรัทธาในคุณค่านี้ ทว่าไม่ปฏิเสธว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีคนไทยบางกลุ่มรังเกียจประชาธิปไตยเพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองบางคน กับปัญหาความแตกแยกระหว่างมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองคนละพรรค
  • "ระบอบประชาธิปไตยในโลกล้วนมีปัญหาไม่มากก็น้อยทั้งนั้น อันนี้เปรียบเทียบไปแล้วก็เหมือนปัญหาอันตรายบนท้องถนน เราคงไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีเลิกใช้รถยนต์แล้วกลับไปนั่งเกวียน พร้อมกับภูมิใจว่าเกวียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย"
  • ในอดีตเคยมีการใช้แนวคิด 'ความเป็นไทย' มาต่อต้านนักศึกษาฝ่ายซ้าย ผลที่ออกมาคือเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 และไฟสงครามประชาชนที่ลุกลามอยู่ในพื้นที่มากกว่า 50 จังหวัด โชคยังดีที่การใช้แนวคิดความเป็นไทยมาต่อต้านต่อต้านประชาธิปไตยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไม่ได้ส่งผลรุนแรงขนาดนั้น กระนั้นก็ตาม เปลวไฟในใจคนอาจจะยังคุกรุ่นอยู่ก็ได้ ในเมื่อธงแห่งความเป็นคนดีและความเป็นไทย ถูกชูโดยกลุ่มชนที่ได้เปรียบเพื่อใช้กดเหยียดชนชั้นล่าง ๆ ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก ความคิดใดที่เน้นย้ำแต่ความ 'ด้อยกว่า' ของคนจำนวนมหาศาล ความคิดนั้นย่อมนำมาซึ่งหายนะมากกว่าความเจริญ
ปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตยมิได้อยู่ที่การถูกยึดพื้นที่ หรือถูกล้มกระดานอยู่เป็นระยะ ๆ โดยฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากอยู่ที่ความไม่สามารถป้องกันตัวของระบอบและผู้คนที่สมาทานแนวคิดชุดนี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายที่ล้มระบอบยังอ้างว่าทำไปเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยหรือสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า ซึ่งในทัศนะของ ดร.เสกสรรค์เห็นจุดอ่อนของฝ่ายประชาธิปไตย ดังนี้

4. ฝ่ายก้าวหน้า : พรรคการเมืองเป็น "อวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์"

ในแต่ละช่วงที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองมักเป็นผู้เล่นหลักมากเกินไป ในขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่มีแนวคิดประชาธิปไตยค่อนข้างแคบ อาศัยแต่การเลือกตั้งเป็นหนทางก้าวสู่อำนาจและหมกมุ่นอยู่กับบทบาทในรัฐสภา จนลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่น ๆ ของระบอบ เช่น บทบาทของประชาสังคม ภาคประชาชน สื่อมวลชน หรือแม้แต่เสียงวิจารณ์ของสามัญชน ด้วยเหตุนี้บรรดานักการเมือง/พรรคการเมืองไม่ได้พยายามผลักดันให้มีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปในระดับโครงสร้าง เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของตัวระบอบ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปราศรัยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2554 ที่จ.บุรีรัมย์ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. 2554Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2554 ที่ จ.บุรีรัมย์
เรื่องที่นักการเมือง/พรรคการเมืองควรทำ แต่ไม่ได้ทำมีอยู่ 3 ประการคือ กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น, ปฏิรูประบบราชการให้ยึดโยงกับประชาชน, ขยายงานรัฐสภาด้วยการเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาไว้ในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสม่ำเสมอ
  • "ที่ผ่านมาบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่เพียงลืมผลักดันให้มีการขยายโครงสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังใช้ความสัมพันธ์แบบจารีต ไม่เป็นสมัยใหม่ มาสร้างฐานเสียงทั้งในและนอกพรรค ระบบพรรคการเมืองกลายเป็นอวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วขัดกับปรัชญาเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างยิ่ง"

5. ฝ่ายก้าวหน้า : รัฐบาลเลือกตั้งมองภาคประชาชนเป็นปฏิปักษ์

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนที่เป็นอิสระ โดยเห็นว่าไม่ใช่มวลชนของตน แทนที่จะดึงประเด็นของประชาชนเข้าสู่กระบวนการทำงานของรัฐ กลับมุ่งกำราบปราบปราม ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความคับแค้นจนขาดสติ หันไปสนับสนุนรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม
  • "การที่นักการเมืองเป็นผู้เล่นหลักบนเวทีประชาธิปไตยแล้วมองไม่เห็นบทบาทของผู้เล่นอื่น มองไม่เห็นความเปราะบางของระบอบดังกล่าวในสังคมไทย ย่อมทำให้เกิดความประมาทในการใช้อำนาจ และทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นโครงสร้างเสาเดียว เมื่อเสานี้ล้มหรือถูกโค่น ทั้งโครงสร้างก็พังทลายลงมา"
เสกสรรค์ ประเสริฐกุลImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ดร.เสกสรรค์เชื่อว่า การต่อสู้ทางความคิดในประเทศไทยยังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน กระทั่งตลอดไป ตราบเท่าที่ "โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด" ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรเราจึงจะคิดเห็นและมองโลกเหมือนกันทั้งประเทศ แต่นำความขัดแย้งทางความคิดมาไว้ในปริมณฑลที่จัดการได้ด้วยวิธีใด
"ตราบเท่าที่ความคิดสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่ในหัวใคร ก็ย่อมไม่มีใครที่สามารถมองเห็นโลกได้อย่างครบถ้วน" เขากล่าวในช่วงท้าย


สำหรับกิจกรรมปาฐกถาพิเศษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16" จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 102 ปี วันคล้ายวันเกิด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาชิกขบวนการเสรีไทย ทั้งนี้ ดร.ป๋วยได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในวาระ 100 ปีชาตกาลของเขา โดยถือเป็นคนไทยคนที่ 26 ที่ได้รับเกียรตินี้ แม้ถึงแก่อนิจกรรมไป 19 ปี แต่ผลงานและเกียรติประวัติในอดีตยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: BBC Thai


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก