รัฐสวัสดิการไม่ได้เริ่มต้นจากคำว่าร่ำรวยเสมอไป
คำถามต่อมาถึงประเด็นสำคัญที่ดร.ษัษฐรัมย์นำเสนอจากเมื่อครั้งได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยในสวีเดน และได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสวีเดนยุคใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อร้อยปีก่อนเหมือนกับประเทศไทย สวีเดนในยุคนั้นเป็นประเทศยากจนถึงขนาดต้องขายลูกกิน จนมาถึงยุคอุตสาหกรรม แต่เศรษฐกิจสวีเดนไม่ได้ดีขึ้น ประชาชนยังยากจนและมีคุณภาพชีวิตเลวร้ายอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งสวีเดนได้ค้นพบคำตอบว่า หากต้องการให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมั่งคั่ง จะต้องลงทุนในทรัพยากรที่มีค่าที่สุด
ทรัพยากรที่เปลี่ยนประเทศยากจนให้กลายเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
ทรัพยากรนั้นมีชื่อว่า ‘มนุษย์’
“สิ่งที่ทำให้ประเทศของเขารวยไม่ใช่เพราะว่าประเทศของเขาเก่งในทางค้าขาย ไปขุดเจอน้ำมันอะไร แต่การที่ประเทศของเขาได้ค้นพบว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ การทำให้คนสวีเดนตั้งแต่เกิดจนตายมีชีวิตที่ปลอดภัย ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล”
ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างการลงทุนในมนุษย์อีกกรณีหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อเส้นทางรถไฟเปิดเส้นทางให้เด็กนักเรียนเพียงหนึ่งคนใช้เพื่อเดินทางไปโรงเรียน และปิดเส้นทางนี้เมื่อนักเรียนคนนี้เรียนจบชั้นมัธยมปลายเพื่อเข้าไปเรียนต่อในเมือง มีพิธีปิดอย่างเป็นทางการ
รัฐสวัสดิการคือระบบที่คืนความเป็นมนุษย์
ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สภาพทางชนชั้นที่กดดัน โครงสร้างทางอำนาจที่กดทับและบีบเค้น ผลักดันให้ประชาชนธรรมดาที่ไม่มีต้นทุนร่ำรวยอะไรต้องดิ้นรน ทุกบาททุกสตางค์ที่หาได้ก็เพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูบุตรให้มีชีวิตที่ดีกว่าในบั้นปลายชีวิต เรายังคงไม่ใกล้เคียงกับการมีฐานะดีขึ้นแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม นอกจากเราจะสูญเสียตัวตนไปแล้ว เรายังถูกทำให้กลายเป็นสัตว์ในระบบเศรษฐกิจที่น้อยคนนักจะได้คืนกลับมาเป็นมนุษย์
ในแง่นี้ ดร.ษัษฐรัมย์จึงมองว่าทางออกเดียวของรัฐที่จะเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กันทั้งในทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชากรได้ รัฐสวัสดิการคือทางออกเดียวที่ว่านั้น รัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเก็บภาษีที่ทำให้คนรู้สึกมีที่ยืนอย่างปลอดภัยในสังคม
สิ่งสำคัญที่ ดร.ษัษฐรัมย์เน้นคือ เงื่อนไขในการเกิดรัฐสวัสดิการ ต้องวางความเป็นไปได้ให้อยู่บนเงื่อนไขของฉันทามติของคนในสังคม ถ้าคนในสังคมเห็นพ้องว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สังคมควรจะมี ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เราจะต้องมาช่วยกันออกแบบให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่ลำพังทางเลือกว่าต้องมีหรือไม่มี กระทั่งการมองว่าคนไทยไม่ขยันเท่าคนญี่ปุ่นหรือคนสวีเดน ถ้าไม่เปลี่ยนตรงนี้ ชาติหน้าเราก็ไม่มีรัฐสวัสดิการ
ทว่า ดร.ษัษฐรัมย์กลับมองตรงกันข้าม
“มันเริ่มจากจุดเปลี่ยนที่ว่า ถ้าเรามองสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่มันจะเป็นไปได้ต้องเริ่มจากความคิดที่ว่าเรามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งพอ และเสียงเราดังพอที่จะพูดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการโรงพยาบาล เราต้องการนักกายภาพ ไม่ได้ต้องการเรือดำน้ำ ไม่ได้ต้องการสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา”
ที่มา: Way Magazine
ที่มา: Way Magazine
EmoticonEmoticon