วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การศึกษาสู่ความเท่าเทียม ตัวชี้วัดคือรายได้ระหว่างรุ่นที่สัมพันธ์กันน้อยที่สุด

เดชรัต สุขกำเนิด เล่าถึงประสบการณ์รัฐสวัสดิการการศึกษาในเดนมาร์กที่รัฐเป็นคนเลือกโรงเรียนให้ เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เมื่อเด็กอยากเรียนก็จะเรียนได้เอง ซึ่งมีตัวชี้วัดที่รายได้ของคนรุ่นลูกยิ่งไม่สัมพันธ์กับคนรุ่นพ่อแม่ยิ่งทำให้เกิดการเท่าเทียม "เราจะไม่เอารายได้ของเราไปช่วยลูกเรา ลูกเรากับเพื่อนในวัยเดียวกันต้องเติบโตอย่างเท่ากัน"

ตัวชี้วัดคือความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูก ยิ่งสัมพันธ์น้อยยิ่งเท่าเทียม
เดชรัตชี้ว่า ที่เดนมาร์กมีตัวชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจคือ การพิจารณารายได้ของคนรุ่นลูกว่าสัมพันธ์หรือถูกกำหนดโดยรายได้ของคนรุ่นพ่อแม่แค่ไหน หรือที่เรียกว่า Intergenerational Income Elasticity ซึ่งยิ่งตัวเลขเข้าใกล้ศูนย์นั้นยิ่งหมายความว่ารายได้ของคนรุ่นลูกไม่สัมพันธ์กับคนรุ่นพ่อแม่ ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะพยายามให้ตัวเลขนี้เข้าใกล้ศูนย์ให้มากที่สุด ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียถือว่ามีตัวเลขนี้ต่ำที่สุดในโลก โดยเดนมาร์กอยู่ที่ 0.11 เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาทำเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียม เขาไม่ได้แค่คิดแต่เขาพยายามจะวัดมันด้วย
"ประเทศไทยยังไม่มีตัวชี้วัดนี้ แต่เราจะสามารถคิดแบบนี้ได้ไหมว่า เราจะไม่เอารายได้ของเราไปช่วยลูกเรา ลูกเรากับเพื่อนในวัยเดียวกันต้องเติบโตอย่างเท่ากัน บางทีเราไม่ได้คิด เพราะเรารู้สึกว่าในฐานะคนเป็นพ่อเราต้องเอาเงินของเราดูแลลูกเราให้เต็มที่ที่สุด อันนี้คือความเต็มที่ในความเป็นพ่อ มันไม่ผิดอะไร ในไทยเรามีห้อง Gifted หรือ EP ซึ่งเป็นห้องรวมเด็กเก่ง และบวกกับค่าใช้จ่ายเดือนละหมื่น หรือถึงห้าหมื่นถึงหนึ่งแสนในโรงเรียนดังๆ"
"ถ้าเราพ้นจากความเป็นพ่อเป็นแม่ มาพูดถึงสังคมที่เราหวังในภาพรวม เราอยากให้ทุกคนใช้เงินที่เรามีมาทำให้ความเหลื่อมล้ำในรุ่นลูกยังมีต่อไปรึเปล่า แต่แน่นอนว่าคนไทยยังไม่เคยคิดถึงขนาดนั้น ก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้ผิดอะไรมาก แต่เดนมาร์กเขาคิดถึงขั้นนั้นได้ เขาคิดว่าสังคมของเขาจะเป็นสังคมที่ทุกคนเติบโตได้โดยไม่ได้พึ่งเงินของพ่อแม่ แล้วลองคิดดูว่าสังคมที่ทุกคนไม่พึ่งเงินของพ่อแม่ กับสังคมที่เงินของพ่อแม่กำหนดเงินของลูก สังคมไหนจะมีคนที่ขวนขวาย มีความหวังในชีวิต มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน" เดชรัตกล่าว


5 พ.ค. ที่ผ่านมา Documentary Club ร่วมกับ SFW Central World จัดเสวนา "เรียนแบบนี้...อยากมีในไทย เป็นได้แค่ฝัน?" ต่อยอดความคิดจากหนังสารคดีนอร์เวย์ "Childhood โรงเรียนริมป่า" โดย เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์จริงเรื่องรัฐสวัสดิการกับโรงเรียนอนุบาลในเดนมาร์ก ดำเนินรายการโดยกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาฟินแลนด์

หัวใจการเรียนของเดนมาร์กคือเรียนรู้ผ่านประสบการณ์

เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยเป็นนักเรียนทุนปริญญาเอกในประเทศเดนมาร์ก และลูกสาวได้เข้าโรงเรียนอนุบาลที่นั่นว่า การศึกษาของเดนมาร์กในระดับอนุบาลถึงประถมจะเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ หรือ Exp Learning (Experiential Learning) หรือถ้าโตขึ้นกว่านั้นก็อาจเป็นการเรียนรู้ที่ลึกขึ้น
หัวใจสำคัญของการเรียนอนุบาลที่เดนมาร์กคือการเตรียมพร้อมเด็กให้อยู่ร่วมกันในสังคม มี 3 ข้อหลักคือ 1. ช่วยเหลือตัวเองได้ 2. ช่วยเหลือเพื่อนได้ 3. อยู่ร่วมกันในสังคมได้ เข้าใจกติกาสังคม ที่ไม่ใช่แค่คำสั่งของครู ไม่มีโจทย์ที่ว่าเรียนเก่งไหม ฉลาดไหม อ่านหนังสือได้ไหม
เดชรัตเล่าว่า ตอนที่ลูกสาวไปเรียนอนุบาลที่เดนมาร์ก เมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้ว ทางโรงเรียนจะบอกเราว่าไม่ได้มีการเรียนหนังสือแต่จะเป็นการทำกิจกรรมกัน การจัดห้องก็จะคละอายุตั้งแต่ 3-5 ขวบ จุดสำคัญคือเน้นการฝึกให้ช่วยเหลือกัน มีการออกไปเดินเล่นข้างนอก แม้กระทั่งวันฝนตก เพื่อปรับให้ทุกคนชินกับทุกอากาศ ผู้ปกครองและคุณครูต้องช่วยกันดูแล ด้วยการหาชุดที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพอากาศมาให้เด็กๆ ได้สนุกสนานในทุกๆ สภาพอากาศ เสื้อผ้าเลอะเทอะถือว่าเด็กสนุกกับกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การวาดรูป เล่นเกม
แต่แม้ไม่ได้เรียนเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ เด็กก็จะเริ่มเขียนหนังสือเป็น เพราะเด็กๆ จะเรียนกันเอง จากความรู้สึกว่าอยากเขียนให้เป็น คำแรกที่เด็กๆ เขียนคือชื่อของเขาเอง จากนั้นก็เป็นชื่อเพื่อนสนิท ซึ่งหมายถึงการที่เด็กได้เริ่มเรียนรู้จากตัวเอง
และเมื่อโตขึ้นมาหน่อยประมาณชั้น ม.3 หัวข้อที่นักเรียนจะได้ต้องถกกันจะมีประเด็นอย่างเช่น เดนมาร์กควรรับผู้อพยพจากซีเรียไหม หรือกระทั่งจนถึงการเรียนในระดับปริญญาโทเองก็ยังเป็นการให้โจทย์เพื่อให้แต่ละกลุ่มฝึกการแก้ปัญหาและแลกเปลี่ยนในแต่ละกลุ่ม ดังนั้นครูจึงอยู่ในฐานะผู้เปิดประสบการณ์ ซึ่งครูเองก็ต้องคิดและวางแผนว่าเด็กควรได้เจอประสบการณ์แบบไหน อย่างไร

เป้าหมายของการศึกษา

เดชรัตกล่าวต่อว่าถึงเป้าหมายการศึกษาของเดนมาร์กว่าเป็นการต่อยอดไปถึงสวัสดิการสังคมในด้านอื่น เพราะฉะนั้นเป้าหมายของการศึกษาจึงสอดคล้องกับเป้าหมายในสังคมซึ่งคือการที่ทุกคนอยู่ได้อย่างสบายใจ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เป้าหมายการศึกษาคือปล่อยพลังได้เต็มที่ ตกงานก็มีเงินสวัสดิการให้ การศึกษาจึงไม่ได้ทำให้คนถูกกำหนดกรอบว่าต้องเป็นอะไร ทำอะไร แต่ให้เป็นอย่างที่อยากจะเป็น
"อย่างเพื่อนผมที่เดนมาร์กเขาเป็นดอกเตอร์ แต่ลูกเขาจบม.3 แล้วก็ไม่เรียนต่อ ตอนนี้เขาก็เป็นนักดนตรีมีชื่อเสียง การไม่เรียนต่อของเขาจึงไม่ได้หมายความว่าชีวิตเขาจะจบลง แต่หมายถึงการที่เขาหาหนทางในชีวิตได้ เป้าหมายของการศึกษากับเป้าหมายของสังคมจึงสอดคล้องกันได้ด้วยวิธีคิดแบบนี้" เดชรัตกล่าว

รัฐเลือกโรงเรียนให้ มีเงินสวัสดิการจากรัฐ

เดชรัตเล่าต่อว่า ที่เดนมาร์กเลือกโรงเรียนเองไม่ได้ แต่เทศบาลจะเป็นคนเลือกให้ โดยดูจากโรงเรียนที่มีที่ว่างและสะดวกในการเดินทาง ทางโรงเรียนจะมีสัมภาษณ์นิดหน่อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะรับเด็กเข้า เรื่องค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ อย่างกรณีตนเป็นนักเรียนทุน ซึ่งถือเป็นคนอยากจนในเดนมาร์ก เทศบาลก็จะจ่ายให้ โดยปกติแล้วค่าเทอมทางเทศบาลจะเป็นคนส่งใบเสร็จไปให้โรงเรียน โรงเรียนจึงไม่รู้ว่าใครจนใครรวย
"นอกจากนี้พอลูกเข้าโรงเรียน ก็มีเช็คส่งมาให้ในชื่อภรรยาผม ซึ่งเป็นค่าเลี้ยงดูลูกจากรัฐบาล ที่ต้องให้กับภรรยาเพราะเขาบอกว่ามีการวิจัยมาแล้วว่าให้เงินกับแม่จะส่งผลดีกว่าให้เงินกับพ่อ" เดชรัตกล่าว

ตัวชี้วัดคือความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูก ยิ่งสัมพันธ์น้อยยิ่งเท่าเทียม

เดชรัตชี้ว่า ที่เดนมาร์กมีตัวชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจคือ การพิจารณารายได้ของคนรุ่นลูกว่าสัมพันธ์หรือถูกกำหนดโดยรายได้ของคนรุ่นพ่อแม่แค่ไหน หรือที่เรียกว่า Intergenerational Income Elasticity ซึ่งยิ่งตัวเลขเข้าใกล้ศูนย์นั้นยิ่งหมายความว่ารายได้ของคนรุ่นลูกไม่สัมพันธ์กับคนรุ่นพ่อแม่ ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะพยายามให้ตัวเลขนี้เข้าใกล้ศูนย์ให้มากที่สุด ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียถือว่ามีตัวเลขนี้ต่ำที่สุดในโลก โดยเดนมาร์กอยู่ที่ 0.11 เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาทำเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียม เขาไม่ได้แค่คิดแต่เขาพยายามจะวัดมันด้วย
"ประเทศไทยยังไม่มีตัวชี้วัดนี้ แต่เราจะสามารถคิดแบบนี้ได้ไหมว่า เราจะไม่เอารายได้ของเราไปช่วยลูกเรา ลูกเรากับเพื่อนในวัยเดียวกันต้องเติบโตอย่างเท่ากัน บางทีเราไม่ได้คิด เพราะเรารู้สึกว่าในฐานะคนเป็นพ่อเราต้องเอาเงินของเราดูแลลูกเราให้เต็มที่ที่สุด อันนี้คือความเต็มที่ในความเป็นพ่อ มันไม่ผิดอะไร ในไทยเรามีห้อง Gifted หรือ EP ซึ่งเป็นห้องรวมเด็กเก่ง และบวกกับค่าใช้จ่ายเดือนละหมื่น หรือถึงห้าหมื่นถึงหนึ่งแสนในโรงเรียนดังๆ" 
"ถ้าเราพ้นจากความเป็นพ่อเป็นแม่ มาพูดถึงสังคมที่เราหวังในภาพรวม เราอยากให้ทุกคนใช้เงินที่เรามีมาทำให้ความเหลื่อมล้ำในรุ่นลูกยังมีต่อไปรึเปล่า แต่แน่นอนว่าคนไทยยังไม่เคยคิดถึงขนาดนั้น ก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้ผิดอะไรมาก แต่เดนมาร์กเขาคิดถึงขั้นนั้นได้ เขาคิดว่าสังคมของเขาจะเป็นสังคมที่ทุกคนเติบโตได้โดยไม่ได้พึ่งเงินของพ่อแม่ แล้วลองคิดดูว่าสังคมที่ทุกคนไม่พึ่งเงินของพ่อแม่ กับสังคมที่เงินของพ่อแม่กำหนดเงินของลูก สังคมไหนจะมีคนที่ขวนขวาย มีความหวังในชีวิต มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน" เดชรัตกล่าว

อุปสรรคเมื่อพยายามปรับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์มาใช้กับประเทศไทย

เดชรัตกล่าวว่า สิ่งที่สังเกตเห็นในเด็กยุคใหม่ซึ่งแตกต่างจากยุคของตนนั้นมีอยู่ 4 ประการ คือ 1. เขาชอบอะไรที่น่าสนใจ อย่างในยุคตนเวลาเข้าห้องเรียนก็จะไม่มีคำถามว่ามันน่าสนใจไหม 2. ไม่ชอบการบอกวิธีการก่อน เขาอยากจะลองค้นเองก่อน 3. เขาอยากทดลองหารูปแบบใหม่ๆ 4. เขาสนใจฟีดแบ๊กของ user หรือคนที่เป็นผู้ใช้งานหรือผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้โซเชียลมีเดียของเขา
แต่อุปสรรคคือ รูปแบบการศึกษาแบบ Exp Learning เมื่อมาใช้ในไทยกับห้องเรียนที่มีนักศึกษา 300 คนนั้นยังเป็นไปได้อยาก กลายเป็นการศึกษาแบบ Download Learning ครูก็สอนนักศึกษาก็ฟัง อุปสรรคอีกอย่างคือเวลา บางกิจกรรมอาจจะใช้เวลาคิดไม่นาน แต่บางกิจกรรมต้องนั่งคุยกันเป็นวัน แต่เวลาของเรามีแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือลักษณะห้องเรียนที่เดินไปหานักเรียนยาก อาจจะเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ต้องจัดการ
เดชรัตตั้งข้อสังเกตอีกอย่างว่า จากการศึกษาของเดนมาร์กคือ ไม่มีแนวคิดว่าลูกเราจะสู้ลูกคนอื่นได้ไหม และผู้ปกครองไม่ได้เลือกโรงเรียนเอง ซึ่งแปลว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนต้องมีคุณภาพเหมือนกัน ในขณะที่คนไทยคิดว่าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเหมือนกับเป็นรางวัลแห่งชีวิต ถ้าคุณเก่งคุณก็จะได้เข้าโรงเรียนเหล่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าทำให้ทุกโรงเรียนเท่ากัน ก็อาจจะมีคนรู้สึกว่าโดนขโมยรางวัลนี้ไป
"ตราบใดที่ใจของเรายังคิดว่ายังมีชั้นอยู่ คนที่เก่งควรจะได้รางวัลนั้น เราก็มีโรงเรียนแบบนั้นไม่ได้ ลึกที่สุดเรายังรู้สึกว่าการศึกษามันเป็นเรื่องการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ที่คู่ควร และเรายังนำเงินของเราไปเติมให้ลูก ไม่ให้เด็กเติบโตอย่างเท่าเทียม มันจึงเป็นคำถามว่าเราพร้อมไหมที่จะให้ลูกเราไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ให้เขามีเท่าเทียมกับคนอื่นปัจจุบันงบต่อหัวของเด็กนักเรียนในไทยได้เท่ากัน แต่งบส่วนอื่นก็จะเทไปที่โรงเรียนที่ดัง ในขณะที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเขามีหัวใจเรื่องการศึกษาเป็นเครื่องมือให้เกิดความเท่าเทียม ให้ทุกคนได้ยืนหยัดอย่างภาคภูมิ" เดชรัตกล่าว

การเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เดชรัตเล่าถึงลูกชายคนเล็กที่ออกมาเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า สำหรับตนแล้วจะมีการประเมินลูกชาย 4 ประการคือ 1. เป็นผู้ประกอบการ สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเน้นเรื่องความรับผิดชอบ 2. มีเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ 3. มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 4. ต้องทำอะไรที่เป็นตัวเอง และไม่ใช่ตัวเองด้วย
เดชรัตขยายความเรื่องการทำอะไรที่เป็นตัวเอง และที่ไม่ใช่ตัวเองว่า "สมมติฐานของผมคือ ปัจจุบันคนเราเชื่อเรื่องการเป็นตัวเราเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งเมื่อเราเชื่อเรื่องการเป็นตัวเอง เวลาเราหลุดจากการเป็นตัวเอง มันเหมือนจากสุขเป็นทุกข์ ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่อาจเป็นตัวเราเองได้ตลอดร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันการเป็นตัวเราเองมันก็ไม่ใช่การเลือกที่สมบูรณ์แบบ เราอาจเลือกเป็นตัวของตัวเองภายใต้ประสบการณ์ที่เราเจอมา แต่ถ้าเราไปเจออย่างอื่นเราก็อาจจะเปลี่ยนได้ "
"คนรุ่นเรามักจะถามกันว่า "จะเป็นอะไรในอนาคต" แต่คนรุ่นใหม่เขาจะถามกันว่า "จะทำอะไร" ซึ่งเราในฐานะพ่อแม่ก็ต้องช่วยดูว่าลูกเราทำอะไรได้บ้าง และจะทำอะไรได้อีก แต่อย่างเราอยู่ในไทย เราก็รู้ว่าเรื่องวิชาพื้นฐานเราก็ต้องเตรียมไว้ด้วย เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อย่าไปกังวลว่าเราต้องรู้ทุกเรื่อง ขอแค่เราอยากรู้และมีคำถามในทุกเรื่องก็พอแล้ว"
"เราไม่รู้ว่าโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร โลกในการทำงานช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นเราอย่าเอาประสบการณ์ที่เรามีไปตัดสินใจ เราทำได้แค่เป็นคนเติมประสบการณ์ของเขา แล้วเขาจะนำประสบการณ์เยอะแยะเหล่านั้นไปเลือกเอง" เดชรัตกล่าว

วิธีการประเมินผลด้วยบอร์ดเกม

แดนไท สุขกำเนิดเล่าประสบการณ์การออกมาเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า วิธีการประเมินผลแบบที่ตนชอบคือการออกแบบบอร์ดเกม โดยจะนำเอาความรู้แต่ละเรื่องที่ได้เรียนมาออกแบบบอร์ดเกม ทดลองเล่น ตัวเนื้อหาที่ได้เรียนเมื่อนำมาทำเป็นบอร์ดเกมเราก็จะยิ่งเห็นเนื้อหานั้นๆ ได้ชัดมากขึ้น และเมื่อนำมาเล่นกับคนอื่นก็จะเป็นการได้รับฟีดแบ๊กจากตัวผู้เล่นด้วยว่าเขาเข้าใจเนื้อหาที่เราจะสื่อไปหรือไม่ เราเข้าใจแล้วจะทำให้คนอื่นเข้าใจด้วยได้หรือเปล่า ข้อดีอีกอย่างของบอร์ดเกมคือผลของมันเป็นความจริงเสมอ เมื่อมันสนุกมันก็จะสนุกจริงๆ เราไม่สามารถไปบังคับให้มันสนุกหรือไม่สนุกได้ และผู้เล่นก็จะบอกเราจริงๆ ว่ามันสนุกไหม เข้าใจไหม

ประชาไท

A Family Affair: Intergenerational Social Mobility across OECD Countries


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก