นายปรีดี พนมยงค์ ต้องใช้เวลา 3 วันเต็มๆ นั่งเรือบรรทุกน้ำมันข้ามอ่าวไทย กว่าจะไปถึงสิงคโปร์เพื่อ “ลี้ภัย” ทางการเมือง หลังถูกรัฐประหารในปั 2490 แต่ในปัจจุบัน เราอาจใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง บินจาก กทม. เพื่อไปยังประเทศปลายสุดของแหลมมลายูแห่งนี้
กลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ผมเพิ่งมีโอกาสได้เดินทางไปที่เกาะซึ่งมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของ กทม.นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เหยียบประเทศที่เคยเป็น และยังเป็น “แหล่งหลบภัยการเมืองยอดนิยม” ของผู้นำไทยหลายยุค-หลายสมัย นับรวมแล้วเกือบสิบชีวิต
สิงคโปร์ในวันนี้ เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้า และบ้านเมืองดูทันสมัย คล้ายเมืองใหญ่ในยุโรป (มีเพียงสภาพอากาศร้อนชื้นที่เตือนว่าเรายังอยู่ในเอเชีย) ซึ่งแตกต่างจากหน้าเป็นหลังมือกับสิงคโปร์ที่นายปรีดีได้ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวราว 3 เดือนเศษ ที่ยังคงเป็นเกาะอาณานิคมอันไกล้โพ้นของอังกฤษ และเพิ่งผ่านความทุกข์ยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มาได้ไม่นาน
ในหนังสือเรื่อง “ปรีดีหนี!” ที่เขียนโดนสุพจน์ ด่านตระกูล ได้เล่าถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของอดีตนายกฯไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 รายนี้ที่สิงคโปร์ โดยช่วงแรก เขาถูกขอให้พำนักอยู่ที่เกาะ St. John ซึ่งถูกใช้เป็นด่านกักกันโรค เนื่องจากไม่ได้นำหนังสือเดินทางมาด้วย ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะได้ไปอยู่บนฝั่งย่าน Bukit Timah แต่เมื่อถูกทางการไทยกดดันมากๆ เข้า ที่สุด นายปรีดีจึงตัดสินใจเดินทางไปลี้ภัยต่อที่จีน และไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส
ทั้ง 2 สถานที่ที่นายปรีดีเคยอยู่ ผมไม่มีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือน เพราะอยู่ค่อนข้างไกลจากใจกลางเมืองแถวย่าน Marina Bay พอสมควร จนอาจเรียกได้ว่า “ไกลปืนเที่ยง” มากๆ หากมองย้อนกลับไปเมื่อกว่า 70 ปีก่อน
สองทศวรรษหลังการมาอาศัยชั่วคราวของนายปรีดี สิงคโปร์ก็ได้ต้อนรับอดีตนายกฯไทยอีกรายที่มาลี้ภัย นั่นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งถูกรับรองในฐานะ “แขก VIP” เพราะไม่เพียงได้อาศัยอยู่ในสถานทูตไทยช่วงเวลาหนึ่ง ยังเคยถูก ลี กวน ยู นายกฯสิงคโปร์ขณะนั้น เชิญไปร่วมรับประทานอาหารค่ำในทำเนียบรัฐบาล โดยเขาอยู่ในประเทศนี้ 2 ปีเศษ ก่อนจะบวชเณรกลับไทย และเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
ปัจจุบัน สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะแม้จะมีขนาดทางกายภาพเล็กกว่าไทยถึงกว่า 700 เท่า แต่กลับมีขนาดทางเศรษฐกิจคิดเป็น 75% ของไทย ผลคือ รายได้ต่อหัวประชากรสิงคโปร์ มากกว่าเราถึง 5 เท่าเต็มๆ ถือเป็นหนึ่งในชาติที่ “รวยที่สุดในโลก”
เหตุที่ผู้นำไทยมักมาลี้ภัยที่สิงคโปร์ อาจเพราะอยู่ใกล้เมืองไทย เดินทางมาได้ไม่ลำบากนัก และสามารถมาได้หลายทาง รถ เรือ เครื่องบิน รถไฟ ที่สำคัญคือเป็นเมืองท่านานาชาติที่สามารถเดินทางไปยังประเทศหรือทวีปอ่านๆ ได้โดยง่าย มาตั้งแต่อดีต
และนอกจาก 3 อดีตนายกฯ ข้างต้น สิงคโปร์ก็ยังเคยต้อนรับผู้นำการเมืองไทยคนอื่นๆ เช่น พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) หนึ่งใน “สี่เสือคณะราษฎร” ที่มาใช้ชีวิตในบ้านหลังคามุงจากเล็กๆ ในช่วงลมการเมืองเปลี่ยนทิศ ราวปี 2493 เช่นเดียวกับสมาชิก “กบฎบวรเดช” บางส่วน อย่างพระยาศราภัยพิพัฒน์ พระยาสุรพันธ์เสนี ขุนอัคนีรถการ ฯลฯ นอกจากนี้ พ.อ.มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศขณะนั้น) ก็เคยมาแวะพักที่สิงคโปร์อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนไปเยอรมันตะวันตก หลังกลายเป็นกบฎ เมื่อปี 2528
แต่ใช่ว่าจะมีแต่ผู้นำการเมืองเท่านั้น กระทั่งคนในราชวงศ์ ก็เคยคิดจะมาลี้ภัยที่นี่เช่นกัน
นายล้อม เพ็งแก้ว เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่าในยุคที่อำนาจและอิทธิพลยังอยู่ในมือขุนนางสกุลบุนนาค รัชกาลที่ 4 เคยใช้เงิน 200 ชั่งเศษ ซื้อที่ดินในสิงคโปร์พระราชทานให้กับรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ พร้อมตรัสว่า “ถ้าสิ้นวาสนาแล้วให้ไปอยู่ที่นั่น ถ้ายังมีวาสนาพอจะอยู่ในเมืองไทยได้ก็ให้เก็บค่าเช่ากินไป”
แต่ในเวลาต่อมา เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ก็ได้ขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนอิทธิพลของขุนนางสกุลบุนนาคและสกุลอื่น ค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลา
ถามว่าในปัจจุบัน ที่ดินซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยเกือบได้มาใช้ชีวิต อยู่ ณ จุดใด?
นักท่องเที่ยวทุกคนที่ไปสิงคโปร์ จะมีอยู่สถานที่หนึ่งที่รู้สึกว่า “ต้องไป” แน่ๆ คือ ถนนสายช็อปปิ้ง Orchard และหนึ่งในสถานทูตซึ่งตั้งอยู่บนถนนที่ว่ากันว่ามีราคาที่ดินแพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนี้ ก็คือ “สถานทูตไทยประจำสิงคโปร์”
กลุ่มอาคารซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 11 ไร่นี้นี่แหล่ะ ที่เคยเป็นสถานที่ๆ รัชกาลที่ 5 เกือบใช้ลี้ภัยทางการเมือง จากเหล่าขุนนางที่เรืองอำนาจยิ่งในสมัยนั้น!
การได้ไปเยือนสิงคโปร์ จึงคล้ายกับได้ไป “ตามรอย” เสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมีชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ถูกวางไว้กระจัดกระจาย ให้เราไปหยิบเป็นจิ๊กซอว์มาต่อ พอให้เห็นภาพใหญ่ว่ากลเกมอำนาจในเมืองไทยนั้นต่อสู้กันอย่างรุนแรง มาตั้งแต่อดีต
เพราะถึงขั้นทำสะเก็ดความขัดแย้งกระเด็นไกลข้ามน้ำ ข้ามทะเล มายังเกาะเล็กๆ แห่งนี้
EmoticonEmoticon