วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ดีเดย์! หักภาษีออนไลน์ต้นปี”61 สรรพากรเร่งออกกม.บีบ “แบงก์” เก็บ-นำส่ง

ผู้ว่าการแบงก์ชาติชี้พร้อมเพย์หนุน “อีคอมเมิร์ซ” กรมสรรพากรเร่งออกกฎหมาย “อีเพย์เมนต์” ให้แบงก์ “หัก-นำส่งภาษี” 
ชี้ไม่ส่งหรือส่งไม่ครบมีโทษ คาดใช้ต้นปี”61 ขุนคลังแย้มมาตรการจูงใจลดภาษีกรณียื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ ชง ครม.เคาะบัตรสวัสดิการใน 2 สัปดาห์
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หลังจากเริ่มโครงการพร้อมเพย์มาได้กว่า 6 เดือน มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้วจำนวนกว่า 30 ล้านบัญชี และมีการโอนเงินผ่านระบบแล้วกว่า 80,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงทุกสิ้นเดือนจะมีการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ถึงประมาณ 230,000 รายการต่อวัน

“ครึ่งปีหลัง สิ่งที่ทำจะยิ่งเห็นชัดว่า พร้อมเพย์จะตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซอีกมาก ลดต้นทุนการโอนเงิน ค่าใช้บริการของประชาชนได้มาก” นายวิรไทกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น น่าจะแล้วเสร็จในกลางเดือน ส.ค.นี้
โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงให้รองรับจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีอากร และเพิ่มระบบทางเลือกในการหักนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตลอดจนเพิ่มช่องทางการชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และระบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
“เมื่อระบบเหล่านี้ใช้งานได้สมบูรณ์ ก็จะไม่ต้องใช้เอกสาร หรือกระดาษอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อมูล หรือการเก็บข้อมูลทางด้านภาษี” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ เมื่อมีธุรกรรมชำระเงินออนไลน์เกิดขึ้น ธนาคารจะต้องมีหน้าที่รับเงินและให้ส่งกรมสรรพากร ซึ่งหากธนาคารไม่ได้ส่งเงินหรือส่งไม่ครบถ้วน ธนาคารจะต้องรับผิดชอบเท่าจำนวนเงินภาษีที่ได้รับไว้หรือส่งไม่ครบถ้วนให้แก่กรมสรรพากรด้วย และยังต้องเสียเงินเพิ่มอัตรา 1.5% ต่อเดือนด้วย
“ตอนนี้ร่างกฎหมายเปิดรับฟังความเห็นอยู่ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปีหน้า และน่าจะเริ่มให้แบงก์ต้องเก็บและนำส่งภาษีจากธุรกรรมออนไลน์ได้ช่วงต้นปี 2561” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ อธิบดีกรมสรรพากรจะออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้การยื่นภาษี สามารถทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ พร้อมกำหนดผู้มีหน้าที่หักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจ่ายเงินได้พึงประเมินไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีโดยวิธีการโอนเงิน
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะประกาศยกเว้นการยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลที่ได้ดำเนินการรายการเหล่านี้ตามระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วต่อไป
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่า ขณะนี้การดำเนินการอีเพย์เมนต์ด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้า
ได้ตามแผน อย่างเรื่องการยื่นแบบและเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ทางกรมสรรพากรก็ได้ดำเนินการได้ตามแผน โดยต่อไปจะมีมาตรการจูงใจให้ยื่นแบบรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น อาจจะให้เสียภาษีน้อยลง เป็นต้น
“ขณะที่พร้อมเพย์มีคนลงทะเบียน 31.5 ล้านบัญชี ถือว่าขยายตัวดีมาก ส่วนโครงการติดตั้งเครื่อง EDC ณ สิ้น มิ.ย 2560 ทำไปแล้ว 1.05 แสนหน่วยงาน รวมจำนวน 1.8 แสนเครื่อง ยังถือว่าล่าช้า ซึ่งผมก็ได้เร่งรัดไปแล้ว ให้ทำให้ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้เราจะมีการเพิ่มช่องทางชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ขณะนี้ทาง ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินและบริษัทบัตรเครดิตขนาดใหญ่ เพื่อทำคิวอาร์โค้ดกลาง ซึ่งจะเปิดตัวในสิ้นเดือน ส.ค.นี้” รมว.คลังกล่าวและว่า
ส่วนอีเพย์เมนต์ภาครัฐจะเริ่มการจ่ายและรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในปีหน้า ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะเสนอรายละเอียดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 2-3 สัปดาห์นี้
ที่มา: Prachachat


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก