ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ ปี 2560 นี้(ดูเหมือน)ภาพเศรษฐกิจไทยดูสดใสดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ที่ออกมาดูเติบโตดีขึ้นโดยเฉพาะภาคส่งออก
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงบ่นจากหลากหลายภาคส่วนตั้งแต่ผู้ประกอบการใหญ่มาถึงเอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ขายและชาวบ้านทั่วๆ ไป ที่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเลย
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงบ่นจากหลากหลายภาคส่วนตั้งแต่ผู้ประกอบการใหญ่มาถึงเอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ขายและชาวบ้านทั่วๆ ไป ที่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเลย
เครือมมติชน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในหลายเรื่องหลายประเด็น
หนึ่งในหัวข้อหลักที่ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ใช้เวลาพอสมควรสำหรับการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว นั่นคือ แม้จะเป็นภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายเรื่องที่ทำให้คนหลายๆ ฝ่ายยังไม่ได้รู้สึกคึกคักตามไปด้วย
“ดูภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจน ไม่ใช่เฉพาะไทย ภาพเศรษฐกิจโลกก็ชัดเจน” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว พร้อมแจกแจงภาพฟื้นตัวแต่ละประเทศด้วย
สหรัฐอเมริกาก็ฟื้นชัดเจน ถึงแม้ว่าจะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นอะไรก็ตาม แต่ตลาดแรงงานเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่ามีการจ้างงานเต็มที่ เฟด (ธนาคารกลางของสหรัฐ) ถึงได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมา 2-3 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา
ในยุโรป เศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนนี้ก็โตกระจาย และเป็นการเติบโตในหลายประเทศ ไม่ใช่ประเทศเดียว แต่ 2-3 ประเทศโตกระจายมากขึ้น
ฝั่งประเทศจีน ที่เจอภาวะเงินไหลออกจากความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนในปีที่แล้ว ปีนี้ก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
เมื่อดูในทวีปเอเชีย พบว่า ภาคการส่งออกเริ่มดี พวกซัพพลายเชนก็เริ่มโตขึ้นชัดเจนมาก พวกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
ดร.วิรไท กลับมามองในประเทศไทย ก็ปรากฏภาพว่า เศรษฐกิจดีขึ้น ธปท. จึงได้มีการปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ เพิ่มขึ้นมา
ซึ่งตัวขับเคลื่อนที่สำคัญๆ ก็คือการส่งออก ที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีการเติบโตกระจายในหลากหลายอุตสาหกรรมและหลากหลายตลาดที่ส่งออก
จะมีตลาดเดียวที่ยังไม่ดีคือ ตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกขาลง แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหานัก และในครึ่งปีหลังภาคการส่งออกก็ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ล่าสุด ธปท. ได้มีการปรับคาดการณ์จีดีพี ขยายตัว 3.5% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 3.4% และการส่งออกปรับเพิ่ม คาดการณ์เติบโตที่ 4.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.1%
ผู้ว่าการ ธปท. ยังชี้อีกภาคที่ยังดูดี คือ ภาคการท่องเที่ยวก็ดีมาก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาจากหลากหลายประเทศเช่นกัน ด้านภาครัฐโดยรวมก็ยังดี และยังเป็นบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“แต่ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าผมจะบอกว่าการส่งออกกระจายตัวมากขึ้น แต่การฟื้นตัวโดยรวมก็ยังกระจุกตัวมากทีเดียว เราจะต้องไม่ลืมปีที่แล้ว เราเจอภัยแล้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคต่างจังหวัด ภาคเกษตรถูกผลกระทบแรงมากในช่วงปีที่แล้ว คนที่พึ่งกำลังซื้อจากภาคต่างจังหวัด ก็จะได้รับผลกระทบแรง” ผู้ว่าการ ธปท. ได้ชี้ให้เห็นบางจุดที่ยังไม่สดใส คือภาคเศรษฐกิจต่างจังหวัด
ประเด็นที่ 2 ที่ทำให้การฟื้นตัวยังเห็นไม่ชัด คือ การส่งออกที่เพิ่มขึ้น ที่ยังไม่ได้นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ค่าโอที (ค่าจ้างล่วงเวลา) ก็ยังไม่มี
ดังนั้น อำนาจซื้อของคนซื้อก็ยังไม่ชัดเจนประเด็นที่ 3 ที่เป็นตัวฉุดรั้งสำคัญ คือ “หนี้ครัวเรือน” ที่เคยสูงขึ้นเยอะมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเข้าไปนั่งดูไส้ในของข้อมูล พบว่ามีความเปราะบาง คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น เป็นหนี้นานขึ้นจนใกล้เกษียณแล้วหนี้ก็ยังไม่ลด
ตัวอย่างความเปราะบางที่เห็นได้ชัดและน่าตกใจคือ คนที่เป็นหนี้ช่วงอายุ 29-30 ปี พบว่า 1 ใน 5 คนของคนวัยนี้ เป็นเอ็นพีแอล (หนี้เสีย)
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย
“ถ้ารวมพวกหนี้ กยศ. เข้าไปด้วย จะยิ่งเห็นชัดเลยว่า คนอายุน้อยกำลังมีปัญหาหนี้กัน เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐบาลกระตุ้นใส่เงินอะไรเข้าไป คนพวกนี้ก็จะเอาไปชำระหนี้หมด ทำให้เงินเหล่านี้ไม่ได้ไปหมุนเข้าในระบบเศรษฐกิจเหมือนสมัยก่อนที่รัฐบาลอัดฉีดเงินใส่กลุ่มพวกนี้ ก็จะเกิดการหมุนของเงินในรอบ 2 รอบ 3 ภายในระบบเศรษฐกิจไทย นี่เป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ภาคการบริโภคภายในประเทศ กระตุ้นไม่ได้ กระตุ้นได้ยาก เพราะมีหนี้ครัวเรือนฉุดรั้งอยู่ ระดับครัวเรือนเค้ามีปัญหาเพราะมีความเปราะบาง เงินช็อตหรือเกิดอะไรขึ้น กลุ่มพวกมีหนี้ก็จะได้รับผลกระทบเชิงความมั่นคงทางการเงิน”
ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะดูเหมือนลดลง แต่หากไปดูข้อมูลของเครดิตบูโรจะพบว่า ภาระหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายยังคงมีอยู่ แม้ว่าตัวสถาบันการเงินจะตัดหนี้สูญออกจากบัญชีไปแล้วก็ตาม และยังรวมถึงการที่หนี้ กยศ. และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ไม่นับรวมอยู่ในหนี้ครัวเรือนอีกด้วย
“ภาวะหนี้ครัวเรือนเป็นแบบนี้ จะไปหวังให้การบริโภคโต หรืออัดฉีดให้โตแบบกระโดดคงไม่ได้” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
สําหรับทางแก้ของปัญหาหนี้ครัวเรือน เมื่อเร็วๆ นี้ ธปท. ได้มีการช่วยเหลือทั้งส่วนของคนที่เป็นหนี้เสียประเภทไม่มีหลักประกัน ก็สามารถเข้าไปขอรับความช่วยเหลือจาก “โครงการคลินิกแก้หนี้” ที่มีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เป็นตัวกลางดำเนินการให้อยู่
หลังเปิดตัวเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ก็มีลูกหนี้ที่ผ่านการอนุมัติการช่วยเหลือแก้หนี้กว่า 200 รายแล้ว ทั้งนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะได้รับการแนะนำการสร้างวินัยการเงินและการก่อหนี้ที่เหมาะสมด้วย
และอีกด้านหนึ่งที่ ธปท. ดำเนินการ คือ การคุมการก่อหนี้ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ของผู้ยื่นสมัครใหม่โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ซึ่งจะถูกจำกัดวงเงินการก่อหนี้ในส่วนของบัตรเครดิต และจำกัดวงเงินและจำนวนสถาบันการเงินที่ให้บริการไม่เกิน 3 แห่ง
“ไม่มีอะไรที่กดปุ่มปุ๊บ แล้วหนี้ลดทันที ต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปีในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ดร.วิรไทกล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากการกู้ของบุคคลธรรมดาเพื่อนำเงินไปทำธุรกิจ ธปท. คาดว่ามีสัดส่วนอยู่ราว 20% ซึ่งหากเปลี่ยนไปใช้ช่องทางกู้อื่นๆ เช่น ผ่านช่องทางธนาคารออมสิน หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ก็จะลดหนี้ครัวเรือนไปได้บางส่วน
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ว่า เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและน่ากังวล โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่น่ากังวลกว่าด้านการเงิน เพียงแต่ว่า อาการของเอสเอ็มอีที่มีปัญหา มักจะสะท้อนผ่านฐานะทางการเงิน เช่น ขอสินเชื่อไม่ได้ หรือเอ็นพีแอลสูงขึ้น เป็นต้น
“เอสเอ็มอีที่ดี ที่ยังมีศักยภาพ เขาก็ยังได้เงิน ดอกเบี้ยก็ถูกลง แต่มีเอสเอ็มอีบางส่วนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เพราะโยงกับเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่เอสเอ็มอีเอ็นพีแอลสูงขึ้น แต่ธุรกิจขนาดใหญ่เอ็นพีแอลกลับลดลง เห็นได้ชัดก็กลุ่มพาณิชยกรรม ร้านวัสดุก่อสร้าง ห้างสรรพสินค้าต่างๆ นี่ยังไม่รวมว่าพวกนี้จะถูกแทนที่ด้วยอีคอมเมิร์ซด้วย หรือพวกรับเหมาก่อสร้าง ที่สู้รายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยไม่ได้”
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ท้ายที่สุด กระบวนการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น ดร.วิรไทกล่าวว่า จะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องครอบคลุมหลายมิติ
นั่นคือคำตอบและคำอธิบายที่ชัดเจนว่า แม้จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีและ GDP เติบโตน่าพอใจ
แต่โจทย์ใหญ่เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ ก็ยังคงท้าทาย
และฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยอยู่นั่นเอง
ที่มา : Matichon Weekly
EmoticonEmoticon