วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

การพยายามเปลี่ยนแปลงการสืบสันติวงศ์จาก ราชสกุล"มหิดล" มาสู่ ราชสกุล"จักรพงษ์"

ในรายงานของนาย ทหารไทยผู้หนึ่งเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์”ในอังกฤษมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์จากสายสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า หรือราชสกุลมหิดล กลับมาสู่สายของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชินี หรือราชสกุลจักรพงษ์ ด้วยการกดดันให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงสละราชย์สมบัติ และผลักดันให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ขึ้นครองราชย์แทน( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Major Arkadej Bijayendrayodhin to Gentleman of the Foreign Relations Washington D.C., 16 September 1945 ในรายงานเชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวขอการสนับสนุนจากอังกฤษ และโปรดดู การฟ้องร้องคดีระหว่างรัฐบาลและพระปกเกล้าฯใน สุพจน์ แจ้งเร็ว, “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,” ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน, 2545): 63-80. )

ความร่วมมือและแตกสลายของพันธมิตรช่วงสงครามระหว่าง“กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

เมื่อความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในนาม “ขบวนการเสรีไทย” บรรลุเป้าหมายในการกดดันให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวลงจากอำนาจและต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นสำเร็จ ต่อมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง การเป็นพันธมิตรระหว่างกันก็แตกสลายลงด้วยเช่นกัน 

เนื่องจากทั้งสองกลุ่มต่างมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษ มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยพระราชวงศ์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และได้เคยถูกคณะราษฎรเนรเทศออกไปไปนอกประเทศ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”บางส่วนที่ถูกจองจำไว้ในเรือนจำให้ได้รับอิสรภาพให้กลับมาเป็นผู้นำในการเมืองไทยอีกครั้ง 

ในรายงานของนาย ทหารไทยผู้หนึ่งเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ เขาได้รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษมีแผนการทวงทรัพย์สินของของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่รัฐบาลยึดไปกลับคืนโดยแกนนำของกลุ่มดังกล่าว คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตสมเด็จพระราชินีของพระปกเกล้าฯ และกลุ่มพระราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชสกุลสวัสดิวัตน์ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Major Arkadej Bijayendrayodhin to Gentleman of the Foreign Relations Washington D.C., 16 September 1945 ในรายงานเชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวขอการสนับสนุนจากอังกฤษ และโปรดดู การฟ้องร้องคดีระหว่างรัฐบาลและพระปกเกล้าฯใน สุพจน์ แจ้งเร็ว, “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,” ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน, 2545): 63-80. )

ในรายงานจากนายทหารไทยถึงกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯฉบับดังกล่าวได้รายงานอีกว่า“กลุ่มรอยัลลิสต์” ในอังกฤษ มีเป้าหมายในการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เกิดขึ้นใหม่ พวกเขาได้เคยเคลื่อนไหวเจรจาขอการสนับสนุนจากอังกฤษและสหรัฐฯ ผ่านลอร์ด หลุยส์ เม้าท์แบตแตนและน.อ.มิลตัน ไมล์ แห่งโอเอสเอส เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศให้สนับสนุนการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในไทยอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์”ในอังกฤษมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์จากสายสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า หรือราชสกุลมหิดล กลับมาสู่สายของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชินี หรือราชสกุลจักรพงษ์ ด้วยการกดดันให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงสละราชย์สมบัติ และผลักดันให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ขึ้นครองราชย์แทน

อย่างไรก็ตาม การกดดันรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ลงจากอำนาจในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับ “กลุ่มจอมพล ป.” โดยเฉพาะอย่างกลุ่มทหารเป็นอันมาก 

เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนหลังสงครามที่ “กลุ่มปรีดี” ให้การสนับสนุนได้ทอดทิ้งกองทัพไทยไว้ในสมรภูมิที่เชียงตุง ทำให้กองทัพต้องหาหนทางเดินทางกลับกรุงเทพฯเอง โดยมิได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลไม่เคารพเกียรติภูมิของกองทัพ อีกทั้งรัฐบาลได้ปลดทหารประจำการลงจำนวนมากและมีการประนามว่ารัฐบาล จอมพล ป.และกองทัพ เป็นผู้นำพาไทยเข้าร่วมสงครามโลกจนเกิดความเสียหายแก่ประเทศ ทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพเป็นอย่างมาก อีกทั้ง เสรีไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือครองอาวุธทัดเทียมกองทัพ ในขณะที่ภาพลักษณ์ของกองทัพถูกเหยียดหยามจากเสรีไทยและนักการเมืองที่เคยเป็นเสรีไทย

เมื่อ ควง อภัยวงศ์ สมาชิกที่เป็นกลุ่มพลเรือนในคณะราษฎรได้รับการสนับสนุนจาก ปรีดี พนมยงค์ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมความผิดในปี 2488 ให้กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ผู้เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ตามข้อตกลงต่างตอบแทนที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน แกนนำของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในอังกฤษได้ทรงร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2  

ส่งผลให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับคณะราษฎร์สามารถเดินทางกลับยังประเทศและเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองได้อีกครั้ง ซีไอเอรายงานว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ทำให้ความขัดแย้งในการควบคุมการเมืองไทยระหว่างคณะราษฎรกับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกนับแต่การปฏิวัติ 2475 นั้นได้กลับมาปะทุอีกครั้งภายหลังสงครามโลก 

ด้วยเหตุที่การปลดปล่อยนักโทษ “กลุ่มรอยัลลิสต์” กระทำในสภาพการเมืองแบบเปิดกว้างและพวกเขายังคงมีความเจ็บแค้นคณะราษฎรอย่างลึกซึ้ง ทำให้การปลดปล่อยดังกล่าวแทนที่จะกลายเป็นการปลดปล่อยพลังของความร่วมมือแต่กลับกลายเป็นพลังของการต่อต้าน และพวกเขาได้ร่วมกันบ่อนทำลาย“กลุ่มปรีดี”ลงในที่สุด เนื่องจากพวกเขาต้องการกำจัดคณะราษฎรทั้งหมด 

ทั้งนี้ในรายงานของอดีตเจ้าหน้าที่โอเอสเอสคนหนึ่งได้รายงานว่า ในช่วงสงครามไม่มี “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผู้ใดที่จะกล้าต่อกรทางการเมืองกับ จอมพล ป.ในขณะที่พวกเขาได้แต่เรียกร้องให้ ปรีดี พนมยงค์ ช่วย เหลือพวกเขาเท่านั้น แต่ในช่วงหลังสงครามนั้น พวกเขารวมตัวกันมีอำนาจมากพอที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองของ ปรีดี ผู้ที่เคยช่วยปลดปล่อยพวกเขาแล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเป็นพันธมิตรระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพียงความร่วมมือชั่วคราวที่ทั้งสองต่างได้รับประโยชน์ ทั้งนี้การหมดอำนาจลงของ”กลุ่มจอมพล ป.” ทำให้ “กลุ่มปรีดี” สามารถกลับเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ส่วน“กลุ่มรอยัลลิสต์” ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือมากกว่า 

เนื่องจากไม่ใช่แค่พวกเขาสามารถทำลายอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ“กลุ่มจอมพล ป.” ซึ่งเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งในคณะราษฎร์และได้เคยมีบทบาทในการปราบปรามการต่อต้านของพวกเขาอย่างรุนแรงลงได้เท่านั้น แต่พวกเขายังได้รับเกียรติยศ บรรดาศักดิ์ต่างๆที่เคยถูกถอดลงจากการทำความผิดฐานก่อการกบฎในอดีตกลับคืนเท่านั้น แต่พวกเขารับสิทธิในการต่อสู้ทางการเมืองกลับคืนมา พร้อมกับการได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลนิรโทษกรรมและปลดปล่อยสมาชิกของ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยพลาดพลั้งถูกจับกุมตกเป็นนักโทษการเมืองให้กลับมาเป็นกำลังหนุนให้กับกลุ่มของตนในการต่อสู้กับคณะราษฎรภายหลังสงครามโลกอีกด้วย ดังนั้นการต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มรอยัลลิสต์” กับคณะราษฎรครั้งนี้ คณะราษฎรเหลือแต่เพียง “กลุ่มปรีดี” เท่านั้น

โครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มการเมืองสำคัญ 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มปรีดี” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกบางส่วนในคณะราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนฯ จากภาคอีสาน อดีตเสรีไทย และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ซึ่งประกอบด้วย พระราชวงศ์ บุคคลผู้จงรักภักดี อดีตนักโทษการเมือง และอดีตเสรีไทย 

ทั้งสองกลุ่มนี้มีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกให้ความสำคัญกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎรจนถึงมีความคิดที่โน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม และพวกเขาสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

ส่วนกลุ่มหลังนั้นมีกลุ่มย่อยภายในหลายกลุ่มและขาดเอกภาพทางความคิดและการนำ เนื่องจากพวกเขามีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน นับตั้งแต่การสนับสนุนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์ การต่อต้านคณะราษฎร การทวงทรัพย์สินกลับคืน การฟื้นฟูเกียรติยศและเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์ และการต้องกลับมาสู่การต่อสู้ทางการเมือง 

อีกทั้ง ภายใน“กลุ่มรอยัลลิสต์”เองนั้นยังคงอยู่ในระหว่างการช่วงชิงความเป็นผู้นำกลุ่มระหว่าง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ผู้ทรงสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ กับ สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สนับสนุนราชสกุลมหิดล จนกระทั่ง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรได้รับการสนับสนุนจาก พระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” จำนวนหนึ่งให้ทรงเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

หลังการปลดปล่อยนักโทษการเมืองได้ไม่นาน ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็นแกนนำในการรวบรวมอดีตนักโทษการเมืองที่เป็น “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น ม.ร.ว นิมิตรมงคล นวรัตน์ ,ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ และ สอ เสถบุตร มาร่วมจัดตั้งพรรคก้าวหน้าในปลายปี 2488 เพื่อการเคลื่อนไหวต่อ ต้านคณะราษฎรในช่วงที่ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ โดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แกนนำคนหนึ่งของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ประกาศตัวตนในบทความเรื่อง “ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์” ที่เรียกร้องการเพิ่มอำนาจการเมืองให้พระมหากษัตริย์และรื้อฟื้นเกียรติยศของราชวงศ์กลับคืน

ทั้งนี้สมาชิกของพรรคก้าวหน้าเป็นพระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” โดยพรรคการเมืองนี้มีนโยบายสำคัญ คือต่อต้านคณะราษฎร ในการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” นั้น “กลุ่มรอยัลลิสต์”ได้ใช้แผนการสกปรกเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยการสร้างความเสื่อมเสียให้กับผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลเช่น 

แผนการต่อสู้ทางเมืองของโชติ คุ้มพันธ์ จากพรรคก้าวหน้า กับทองเปลว ชลภูมิ จากพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ในการเลือกตั้งซ่อมในปี 2488 พรรคก้าวหน้าใช้แผนสร้างความเสื่อมเสียให้กับ ทองเปลว ด้วยการให้สมาชิกพรรคฯ นำสีไปขีดเขียนตามที่สาธารณะ วัด เรียกร้องให้ประชาชนเลือกทองเปลวเลอะเทอะไปทั่วที่สาธารณะ อีกทั้งได้ให้พวกเขาไปตะโกนให้ประชาชนเลือกหมายเลขคู่แข่งที่ก่อความรำราญอันทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรังเกลียดทองเปลวอย่างมาก และหันมาเลือกโชติซึ่งเป็นคู่แข่งขันแทน นอกจากนี้ ในเช้าตรู่วันเลือกตั้ง พรรคก้าวหน้าได้ใช้ให้สมาชิกพรรคฯ ไปตบประตูและตะโกนเรียกให้ประชาชนตามบ้านเลือก ทองเปลว พฤติกรรมเหล่านี้สร้างความโกรธให้กับประชาชนมาก ประชาชนจึงลงคะแนนให้กับ โชติ พรรคตรงกันข้ามแทน (“นายประชาธิปัตย์”, กลวิธีหาเสียงเลือกตั้ง [พระนคร: มิตรนราการพิมพ์, 2511],หน้า 124.; ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, ศิลปการเลือกตั้ง [พระนคร: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2517],หน้า 124-128.; ปรีดี พนมยงค์, “คำนิยม” ใน ร.ท.สุภัทร สุคนธาภิรมย์, พุทธปรัชญาประยุกต์ [กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2517],หน้า (6)-(7).)

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นล้วนได้รับการสนับสนุนจาก ปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากปรีดีมีกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ให้การสนับสนุนเขามาก ทำให้เขามีอิทธิพลที่สามารถให้การสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไม่ยากนัก 

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ปรีดี ได้ตัดสินใจยุบ “ขบวนการเสรีไทย” ที่เป็นฐานให้การสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของเขาส่งผลให้อำนาจของเขาถูกท้าทายจาก ควง อภัยวงศ์ อันมีเหตุมาจากการที่เขาไม่สนับสนุนให้ ควง กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เนื่องจากเขาเห็นว่า ควง มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจสูง ไม่ยอมทำตามคำแนะนำของเขา แต่สุดท้ายแล้ว ควงได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนฯให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ

ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ควงแยกตัวออกจากคณะราษฎรไปแสวงหาการสนับสนุนทางการเมืองจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” และควงสามารถจัดตั้งรัฐบาลของเขาที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มปรีดี” ได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2489 โดยควงได้รับความช่วยเหลือจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” หลายคนเข้าร่วมรัฐบาล เช่น พระยาศรีวิสารวาจา อดีตข้าราชการในระบอบเก่าที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมอย่างมาก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาอัศวราชทรงศิริ และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ ปรีดี ตัดสินใจยุบเลิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นกองกำลังที่มีส่วนในการปกป้องรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” ลงในขณะที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์”กลับมีพลังทางการเมืองมากขึ้น ทำให้เขาตระหนักว่า กลุ่มการเมืองของตนปราศจากฐานสนับสนุนอำนาจ เวลาต่อมา ปรีดี และ“กลุ่มปรีดี” ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น 2 พรรคที่สำคัญ คือ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันสมาชิกคณะราษฎรทั้งส่วนพลเรือนและทหารที่ยึดถือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

หลัก 6 ประการสามารถประมวลได้ดังนี้

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถจะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ส่วนพรรคสหชีพ เป็นการรวมตัวกันของสมาชิกสภาผู้แทนฯจากภาคอีสาน และอดีตเสรีไทย ยึดถือนโยบายสังคมนิยมและต่อต้าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อใช้พรรคการเมืองทั้งสองพรรคต่อสู้ทางการเมืองกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคลื่อนไหวรวมตัวกันทางการเมืองอย่างเข้มข้นภายหลังสงครามโลก

ในขณะเดียวกัน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2489 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่นาน สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่าง ควง อภัยวงศ์กับ พระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์อันแนบแน่นมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้กลุ่มดัง กล่าวประกอบด้วย พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ,เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
,ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช ,สมบูรณ์ ศิริธร ,เทียม ชัยนันท์ ,เลียง ไชยกาล และใหญ่ ศวิตชาติ เป็นต้น ในเวลาต่อมา พวกเขาได้จัดประชุมทางการเมืองเพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นที่บ้านของพระพินิจชนคดีเพื่อร่วมมือกันต่อต้านคณะราษฎร โดยได้รับเงินทุนก้อนแรกในจัดตั้งพรรคการเมืองจากพระพินิจชนคดี

ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง โดยปราศจากนโยบายพรรคฯที่มีความชัดเจน เนื่องจากสมาชิกในพรรคฯ มีความต้องการที่หลากหลาย เช่น สมาชิกบางส่วนมีความต้องการกลับสู่ระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ บางส่วนต้องการรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ บ้างก็ต้องการมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่บางส่วนก็ไม่ต้องการ จอมพล ป. อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยสรุปนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ คือเพื่อค้านเท่านั้น

จากรายงานของอดีตโอเอสเอสคนหนึ่งรายงานว่ารัฐบาล ควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลอนุรักษ์นิยม และมีความพยายามทำลายฐานทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ ที่มาจากอดีตเสรีไทย และนักการเมืองฝ่ายซ้าย จากนั้น “กลุ่มปรีดี” นำโดยพรรคสหชีพและ สงวน ตุลารักษ์ ได้เริ่มดำเนินการตอบโต้รัฐบาลควง โดยได้สนับสนุนให้กรรมกรจีนและคนชั้นล่างในกรุงเทพฯ ลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลควงเพื่อเป็นการโต้ตอบ ไม่นานจากนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การที่รัฐบาลควงพ่ายแพ้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯ ทำให้ควงต้องลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่ถึงสองเดือนนี้สร้างความไม่พอใจให้ควงเป็นอย่างมาก

จากนั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวมามีบทบาททางการเมืองโดยตรง ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนถัดมา ด้วยเหตุความพ่ายแพ้ในสภาผู้แทนฯ ได้สร้างความไม่พอใจ ของควง อภัยวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”มาก ทำให้พวกเขาตัดสินใจจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นในต้นเดือนเมษายน 2489 โดยผลงานทางการเมืองในช่วงแรกเริ่มของพรรคประชาธิปัตย์ คือการตอบโต้รัฐบาลปรีดีทันที

โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวหารัฐบาลปรีดีและเหล่าเสรีไทยว่า ร่วมกันยักยอกเงินจากงบสันติภาพของเสรีไทย แต่ผลการสอบสวนโดยคณะกรรมธิการของสภาผู้แทนฯ ปรากฏว่า ข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างความเสื่อมเสียให้รัฐบาลปรีดีเป็นอย่างมาก และได้กลายเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ในเวลาต่อมา ผนวกกับเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ถูกประกาศใช้นำไปสู่การเลือกตั้งนั้นยิ่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผ่านพรรคการเมืองที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงแรกเริ่มของการก่อตัวนั้น พวกเขาพยายามโฆษณาชวนเชื่อในการหาเสียงการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2489 ว่า การเสด็จนิวัตรพระนครในเดือนธันวาคม 2488 และการเสด็จเยาวราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อช่วงชิงผลงานจากรัฐบาลปรีดี พนมยงค์นอกจากนี้ พวกเขายังได้พยายามอ้างว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนพรรคฯของตน 

แต่ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลปรีดียังคงได้รับชัยชนะ จากนั้นพวกเขาจึงได้เริ่มรณรงค์ต่อไปว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมๆกับการโจมตี ปรีดี ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และการเริ่มต้นแผนการโกงการเลือกพฤติสภา ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯทรงบันทึกว่าควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  ( A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 547-549 )

ขอบคุณข้อมูลตัดมาจากบางส่วนของวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) โดย ณัฐพลจริงใจ


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก