หลายเดือนมาแล้ว อาจารย์สาวตรี สุขศรี โพสต์เรื่องที่ทหารเล่าให้ท่านฟังว่า ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา พวกเขาได้รับมอบหมายให้เข้ามารับฟังและแก้ไขความเดือดร้อนชาวบ้าน เจอปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวบ้านด้วยกัน ด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งแยะ เพราะสมัยปัจจุบันชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ชิดติดกัน ทุกฝ่ายก็ต้องการใช้อำนาจทหารมาปัดเป่าปัญหาที่มาจากเพื่อนบ้าน
อาจารย์สาวตรีชี้ข้อสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า "ที่ปัจเจกสมัยใหม่ขาดคืออำนาจแก้ความขัดแย้งระดับไมโครที่พึ่งพาได้ ซึ่งต้องหาทางสร้างขึ้นในระดับละแวกบ้านชุมชน ไม่งั้นก็จะโหยหาทหาร/อำนาจเด็ดขาดแบบอื่นตลอด"
ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์สาวตรีถูกหรือผิดที่บอกว่าชาวบ้านไทยปัจจุบันต้องการอำนาจเด็ดขาด เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในชุมชนซึ่งกระชับขึ้นทางกายภาพ แต่หลวมขึ้นทางวัฒนธรรม เช่นที่เห็นได้ในชุมชนเมืองของไทยปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงอาจมาเร็วจนผมตามไม่ทันก็ได้
สัก 30 ปีมาแล้ว นักรัฐศาสตร์ญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งทำวิจัยเก็บข้อมูลในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง (โตชิฟูมิ ยามาดะ) ตั้งข้อสังเกตซึ่งตรงกับประสบการณ์ของผมโดยไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบว่า คนไทยดำเนินชีวิตอยู่โดยอาศัยการถ่วงดุลระหว่างอำนาจสองชนิด หนึ่งคือ "อำนาจ" (หมายถึงอำนาจที่มีกฎหมาย, ประเพณี, หรือความเชื่อรองรับ) และสองคือ "อิทธิพล" (หมายถึงอำนาจที่ไม่มีกฎหมาย, ประเพณี หรือความเชื่อรองรับ)
สารวัตรตำรวจรังแกประชาชน แทนที่จะวิ่งไปฟ้องร้องเจ้านายของสารวัตรในกรมตำรวจ กลับวิ่งไปหาผู้บังคับการมณฑลทหารบกในจังหวัดของตนเอง ซี่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะเข้ามายุ่งเกี่ยวได้เลย แต่ในความเป็นจริงมีอิทธิพลมากทีเดียว เพราะท่านเป็นคนของ ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยค้ำรัฐบาลที่มีทหารเป็นนายกรัฐมนตรีเอาไว้ ท่าน ผบ.ทหารจึงกระแอมดังๆ จนทำให้สารวัตรหยุดรังแกประชาชน อย่างน้อยก็ไม่รังแกโดยไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับหรือไว้อ้างถึงเสียเลย
ท่านผู้การทหารก็ไม่ใช้อิทธิพลของท่านแทรกแซงงานของตำรวจมากไปกว่านี้ เพราะท่านสารวัตรตำรวจใช้อำนาจของตนไปตามกฎหมาย หรือทำให้เห็นประหนึ่งว่าใช้อำนาจของตนตามกฎหมาย
เรื่องเช่นนี้จะเปลี่ยนจากผู้การทหารเป็น "เจ้าพ่อ" แทนก็ได้ เพราะ "เจ้าพ่อ" หลายคนด้วยกัน เป็นคนแต่งตั้งสารวัตรตำรวจเอง หรือสั่งย้ายได้เอง อย่างที่รู้ๆ กันอยู่
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า อำนาจและอิทธิพลในสังคมไทยนั้น ทำงานร่วมกัน แต่เป็นการทำงานเชิงถ่วงดุลกัน โดยมีประชาชนวิ่งไปหาอำนาจเมื่ออิทธิพลรังแกตัวมากไป หรือวิ่งไปหาอิทธิพลเมื่ออำนาจรังแกตัวมากไป
ก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมเมืองอย่างในทุกวันนี้ (กว่าครึ่งของประชากรอาศัยอยู่ในเขตที่เป็นเมือง ในทุกนิยามของความหมายคำว่าว่าเมือง) คนไทยไม่ได้ต้องการอำนาจเด็ดขาด หรืออิทธิพลเด็ดขาด จากประสบการณ์ของคนไทยนับตั้งแต่อดีตกาลนานไกล คนไทยรู้ดีว่า เมื่อมีอำนาจเด็ดขาดหรืออิทธิพลเด็ดขาด ตัวจะเดือดร้อนอย่างดิ้นไม่หลุดเลย
แม้แต่การรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นสิบๆ ครั้งในประวัติศาสตร์ไทย จะมองว่าเป็นการถ่วงดุลระหว่างอำนาจและอิทธิพลก็ได้ เมื่อไรที่พ่อค้า, ทหาร, ตุลาการ, ข้าราชการ, กลุ่มผู้กุมอำนาจนำ, คนชั้นกลางในเมือง ฯลฯ รู้สึกว่าจะเอาอำนาจไว้ไม่อยู่ (เป็นอำนาจเพราะมีรัฐธรรมนูญ, ประเพณี และความเชื่อรองรับ) ก็ไปดึงเอาอิทธิพลคือกองทัพออกมายึดอำนาจเสียทีหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ไชโยโห่ร้องเมื่ออิทธิพลขึ้นมาแทนที่อำนาจ
ในแง่นี้ คนที่ตามแห่ลุงกำนัน ทั้งบนท้องถนนและในฐานะปัญญาชน ก็คิดอะไรไม่ต่างจากบรรพบุรุษของเขา นั่นคืออำนาจ (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) นั้นเอาไม่อยู่แล้ว การผ่าน พ.ร.บ. เหมาเข่งกลางดึก เป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เห็นว่าอำนาจซึ่งปราศจากการถ่วงดุลจะนำความเดือดร้อนมาแก่ชีวิตผู้คนและประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องเอาอิทธิพลออกมาขจัดอำนาจโดยเร็ว
(การที่บอกว่ารัฐบาลได้ถอน พ.ร.บ. ออกและประกาศยุบสภาแล้ว ก็แสดงว่าอำนาจมีขีดจำกัดเหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้อิทธิพลมาช่วย แต่นี่เป็นการมองแบบเทคนิคล้วนๆ อำนาจอันไร้ขีดจำกัดกลายเป็นภาพที่ฝังแน่นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว เพราะกุมคะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้เด็ดขาด ฉะนั้น จะเล่าความเท็จอย่างไร เช่น โกงขายข้าว, โกงขายชาติ, จนแม้แต่ขายตัว ยังต้องโกงเวลาของสภา คนตามแห่ลุงกำนันก็พร้อมจะเชื่อ เพราะอำนาจเด็ดขาดย่อมชั่วเด็ดขาด)
อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารของกองทัพทุกครั้ง คือการใช้อิทธิพลขจัดอำนาจออกไป ในเวลาซึ่งมีแต่อิทธิพล ไม่มีอำนาจเหลืออยู่เลย เป็นเวลาแห่งวิกฤตในความคิดของคนไทย เพราะไม่มีอะไรมาถ่วงดุลอิทธิพล จึงอาจทำความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตได้เหมือนกัน
นี่คือเหตุผลที่คณะรัฐประหารทั้งหลาย ต้องรีบเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นอำนาจโดยเร็ว เช่น ออกธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญ จัดตั้งรัฐบาล มีสภานิติบัญญัติ ไม่เข้าไปยุ่งกับฝ่ายตุลาการ ยกเว้นแต่จำเป็นจริงๆ ก็ต้องทำอย่างมิดชิด
แม้แต่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากทำรัฐประหารครั้งที่สองแล้ว ถึงจะรู้ดีว่าไม่อาจสละอิทธิพลไปได้ทั้งหมด จึงเรียกสภาวะยึดอำนาจของตนว่า "ปฏิวัติ" อันเป็นสภาวะอปรกติ แม้กระนั้นในการบริหารอำนาจของตนในฐานะนายกรัฐมนตรี สฤษดิ์ ก็ไม่ใช้อิทธิพลตาม ม.17 บ่อยนัก ยกเว้นแต่มั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนพอสมควร (เช่น จับเจ๊กที่ไหนมายิงเป้าด้วยข้อหาวางเพลิง คนไทยจำนวนไม่น้อยคงเห็นด้วย หากสามารถระงับหรือบรรเทาการวางเพลิงได้จริง)
โดยปรกติแล้ว สฤษดิ์จะปล่อยให้กลไกของอำนาจได้เดินไปตามครรลองของมัน หากจะใช้อิทธิพลของตนกำกับ ก็ทำอยู่เบื้องหลัง ไม่ให้รู้เห็นประเจิดประเจ้อ เพราะสฤษดิ์ในฐานะตัวแทนของอิทธิพลอันใหญ่มหึมานั้น แสดงให้เห็นโดยประจักษ์แก่สังคมอยู่แล้ว นายกฯ ไปตรวจราชการในชุดสนาม บางครั้งก็ตั้งเต็นท์ค้างแรมในพื้นที่เหมือนปฏิบัติการทางทหารเลยทีเดียว
ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ทำให้ประชาชนตระหนักในอิทธิพล แต่ตรงกันข้าม ต้องทำให้อำนาจได้ทำงานตามครรลองของมัน เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจว่า ตัวมีชีวิตอยู่ท่ามกลางอำนาจและอิทธิพล สามารถใช้สองอย่างนี้ถ่วงดุลกันเองได้
ธนาคารมีอิทธิพลเพราะประธานกรรมการล้วนเป็นนายพลทั้งนั้น แต่ธนาคารต้องอยู่ภายใต้อำนาจกำกับของธนาคารชาติ ซึ่งมี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการ ใครๆ ก็รู้ว่าอาจารย์ป๋วยเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงตรง ธนาคารจึงสามารถทำธุรกรรมของตนได้ เพราะทั้งผู้ลงทุน, ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปเชื่อว่า แม้มีอิทธิพล แต่ธนาคารคงไม่เบี้ยว (อย่างน้อยไม่เบี้ยวอย่างเห็นๆ เหมือนนักเลงหัวไม้)
ดังนั้น จึงไม่ใช่คนไทยฝ่ายเดียว แม้แต่เผด็จการทหารอย่าง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มองเห็นว่า ดุลระหว่างอำนาจและอิทธิพลนี้มีความสำคัญต่อการรักษาอำนาจและอิทธิพลของตนเอง
นายทหารที่ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือยึดอำนาจชุดอื่นก็มองเห็นอย่างเดียวกัน ยกเว้นก็แต่ คสช. เท่านั้น
คสช. ทำอย่างเดียวกับที่คณะรัฐประหารอื่นๆ เคยทำมาแล้ว นับตั้งแต่ประกาศใช้ธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว, ตั้งรัฐบาลที่อย่างน้อยโดยทฤษฎีแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของสภานิติบัญญัติ ตลอดจนทำให้สถานการณ์คืนกลับสู่สถานะปรกติโดยเร็ว
คณะรัฐประหารอื่นเขาทำอย่างนี้เพื่อให้อิทธิพลกลายเป็นอำนาจ หรืออย่างน้อยก็แสดงออกในรูปของอำนาจ แต่ คสช. กลับทำให้ผู้คนไม่ลืมว่า คสช. คืออิทธิพล และย่อมจะใช้อำนาจอย่างผู้มีอิทธิพล มากกว่าอย่างผู้มีอำนาจ (ทำไปทำไมผมก็ไม่ทราบ แม้กระนั้นก็หวังว่า คสช. จะทราบ)
ทั้งนี้ ไม่แต่เพียงการมีมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะคณะรัฐประหารอื่นก็มักจะมีอะไรทำนองนี้ไว้เหมือนกัน แต่คณะรัฐประหารอื่นจะไม่ใช้มาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะเมื่อสถาปนาอำนาจขึ้นแทนอิทธิพลแล้ว แต่จะปล่อยให้กฎหมาย, ประเพณีการปกครอง, สถาบันตุลาการ ทำหน้าที่ของมันไปตามปรกติ ถึงแม้จะทำด้วยเจตนาจะตอบสนองความต้องการของคณะรัฐประหาร คณะทหารผู้ยึดอำนาจก็จะทำเฉยเหมือนไม่รู้ไม่เห็นอะไรด้วย (เช่น สฤษดิ์ประกาศให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลทหาร-อำนาจกลายเป็นอิทธิพล แต่เป็นอิทธิพลซึ่งเป็นอำนาจตามความเชื่อของคนในสังคม)
แต่นายกรัฐมนตรีของ คสช. ใช้ ม.44 อยู่เสมอ และใช้ในสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า "ขี้หมูราขี้หมาแห้ง" เช่น ย้ายข้าราชการให้มาประจำสำนักนายกฯ ก็ออกคำสั่งเปรี้ยงเดียวก็ย้ายได้แล้ว ไม่ต้องอาศัยอำนาจตาม ม.44 แต่อย่างไร นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งยังทำได้เลย เสี่ยงอยู่หน่อยที่อาจถูกฟ้องได้ ก็ระวังในคำสั่งมิให้เปิดช่องให้ฟ้องได้เท่านั้นเอง เช่น มันไม่ทำตามคำสั่ง ก็บอกเลยว่ามันไม่ทำตามคำสั่ง จึงต้องย้าย
ไม่เฉพาะแต่ทหารใกล้ชิดเท่านั้นที่คอยบอกให้หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 แม้แต่บริวารพลเรือนที่เป็นนักกฎหมายเอง ก็ชอบเสนอให้หัวหน้าคณะรัฐประหารใช้ ม.44 อยู่เสมอ
แปลว่าทั้งคณะและบริวารของคณะ ต่างก็อยากรักษาตัวให้เป็นอิทธิพลมากกว่าแปลงตนเองให้เป็นอำนาจ ด้วยเหตุดังนั้น นับวันในทัศนะของคนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมอง คสช. เป็นอิทธิพลเด็ดขาด อันเป็นสิ่งที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าอำนาจเด็ดขาด ในขณะที่โหยหาจะมีอำนาจขึ้นมาคานอิทธิพลในบ้านเมืองด้วย
อันที่จริงเรื่องอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเมืองและสังคมไทย ในรัฐที่ไม่เข้มแข็งพอจะปกป้องคุ้มครองประชาชนได้ทั่วถึง คนไทยอยู่และเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาให้เติบใหญ่สืบมาในรัฐเช่นนี้ได้ ก็เพราะรู้จักถ่วงดุลอำนาจและอิทธิพลให้ไม่อาจรังแกตัวได้เต็มที่ทั้งสองฝ่าย
แต่สังคมไทยไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในสังคมชนบทอีกแล้ว เหมือนอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยได้กลายเป็นสังคมเมืองอย่างช้ากว่าเขา คนไทยส่วนใหญ่เวลานี้ไม่ได้ทำมาหากินในท้องนา แต่ทำงานในโรงงานและภาคบริการประเภทต่างๆ แม้ว่ารัฐยังไม่เข้มแข็งเท่าไรนัก เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐสมัยใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ความเติบโตในภาคสังคมและประชาสังคม ทำให้คนไทยในปัจจุบันพอจะมีพลังกดดันให้รัฐหันมาปกป้องคุ้มครองตนเองได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
อำนาจเด็ดขาดเป็นภยันตรายที่น่ากลัวจริง และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นในสังคมใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะทานอำนาจเด็ดขาดด้วยอิทธิพลท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ก็มีภยันตรายที่น่ากลัวเหมือนกัน เพราะความไม่เข้มแข็งจริงของรัฐไทย เปิดโอกาสให้อิทธิพลเติบใหญ่ ทำลายอำนาจลงไปจนสิ้นเชิง แล้วสถาปนาตนเองเป็นอิทธิพลเด็ดขาด ซึ่งไม่แต่เพียงระงับอำนาจที่เป็นทางการอย่างเดียว แต่อำนาจที่ไม่เป็นทางการซึ่งวางอยู่บนฐานของหลักสิทธิเสรีภาพบุคคล ก็อาจถูกระงับไปด้วย
ทั้งสังคมไม่เหลืออะไรเลย นอกจากนักเลงหัวไม้ที่คอยชี้นิ้วให้ทุกคนนั่งนิ่งๆ
ผมจึงเห็นด้วยกับอาจารย์สาวตรีอย่างยิ่งที่บอกว่า เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนไป ("หมู่บ้านสมัยใหม่ที่บ้านชิดติดกันเยอะมาก") "...แต่ขาดอำนาจแก้ความขัดแย้งระดับไมโครที่พึ่งพาได้ ซึ่งต้องหาทางสร้างขึ้นในระดับละแวกบ้านชุมชน..."
ไม่แต่เพียงระดับหมู่บ้าน และไม่แต่เพียงอำนาจแก้ความขัดแย้งเท่านั้น สังคมไทยต้องคิดและเข้าไปทดลองการถ่วงดุลอำนาจกันใหม่ทั้งหมด นั่นคือจะต้องถ่วงดุลอำนาจด้วยอำนาจ (คือมีกฎหมาย, ประเพณี หรือความเชื่อรองรับ) จะจัดวางอำนาจกันอย่างไร ให้มันสามารถถ่วงดุลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งไม่มีองค์กรใดหรือสถาบันใด มีอำนาจเด็ดขาด
นักกฎหมายจำนวนไม่น้อยคิดว่า ง่ายนิดเดียว ก็เขียนกฎหมายขึ้นรองรับอิทธิพลเสีย อิทธิพลก็กลายเป็นอำนาจไป รัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับ ทำอย่างนี้ คือเป็นฐานทางกฎหมายให้แก่อิทธิพล
แต่ความเป็นกฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีคนร่างมันขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษร ความเป็นกฎหมายเกิดขึ้นเพราะความชอบธรรมต่างหาก กฎหมายที่ขาดความชอบธรรม แม้ได้ผ่านการรับรองอย่างถูกต้องมาอย่างไร ก็ไม่ใช่กฎหมายอยู่นั่นเอง
ดังเช่นพระราชบัญญัติเก็บภาษีผักบุ้งในปลายอยุธยา
รัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นด้วยข้ออ้างว่า จะป้องกันมิให้เกิดอำนาจเด็ดขาด โดยการนำเอาอิทธิพลมาทำเป็นสถาบันเพื่อคานกับอำนาจ ไม่ใช่สิ่งที่ผมหมายถึงเมื่อกล่าวว่า ต้องหาทางทำให้อำนาจถ่วงดุลกับอำนาจให้ได้ นั่นคืออำนาจไม่มีทางรวมศูนย์ แต่มีสถาบันอำนาจที่หลากหลาย และถ่วงดุลกันเอง จนไม่มีสถาบันทางอำนาจใดสามารถบรรลุอำนาจเด็ดขาดได้เลย
รัฐธรรมนูญ 2540 คิดไปในทางนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าล้มเหลวที่จะป้องกันมิให้เกิดอำนาจเด็ดขาดขึ้น แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เกิดความล้มเหลวนั้น ผมจึงเห็นด้วยว่า หากจะนำรัฐธรรมนูญฉบับนั้นกลับมาใช้ใหม่ จำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปรับปรุง อย่างน้อยโดยปราศจากความรู้ถึงสาเหตุแห่งความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น คนหมู่มากย่อมมีญาณทัศนะที่ลึกกว่าและกว้างกว่าที่ประชุมของ "ผู้เชี่ยวชาญ"
สังคมและรัฐไทยได้เดินมาถึงจุดที่ต้องถ่วงดุลอำนาจด้วยอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราไม่อาจปล่อยให้อิทธิพลเติบใหญ่จนทำความเสียหายแก่ส่วนรวมได้อย่างกว้างขวางยาวนานเช่นนี้อีก
0000
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10-16 มิ.ย.59
EmoticonEmoticon