ในขณะเดียวกัน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2489 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่นาน สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่าง ควง อภัยวงศ์กับ พระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์อันแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กลุ่มดัง กล่าวประกอบด้วย พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ,เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช,ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช ,สมบูรณ์ ศิริธร ,เทียม ชัยนันท์ ,เลียง ไชยกาล และใหญ่ ศวิตชาติ เป็นต้น ในเวลาต่อมา พวกเขาได้จัดประชุมทางการเมืองเพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นที่บ้านของพระพินิจชนคดีเพื่อร่วมมือกันต่อต้านคณะราษฎร โดยได้รับเงินทุนก้อนแรกในจัดตั้งพรรคการเมืองจากพระพินิจชนคดี
ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง โดยปราศจากนโยบายพรรคฯที่มีความชัดเจน เนื่องจากสมาชิกในพรรคฯ มีความต้องการที่หลากหลาย เช่น สมาชิกบางส่วนมีความต้องการกลับสู่ระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ บางส่วนต้องการรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ บ้างก็ต้องการมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่บางส่วนก็ไม่ต้องการ จอมพล ป. อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยสรุปนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ คือเพื่อค้านเท่านั้น
จากรายงานของอดีตโอเอสเอสคนหนึ่งรายงานว่ารัฐบาล ควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลอนุรักษ์นิยม และมีความพยายามทำลายฐานทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ ที่มาจากอดีตเสรีไทย และนักการเมืองฝ่ายซ้าย จากนั้น “กลุ่มปรีดี” นำโดยพรรคสหชีพและ สงวน ตุลารักษ์ ได้เริ่มดำเนินการตอบโต้รัฐบาลควง โดยได้สนับสนุนให้กรรมกรจีนและคนชั้นล่างในกรุงเทพฯ ลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลควงเพื่อเป็นการโต้ตอบ ไม่นานจากนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การที่รัฐบาลควงพ่ายแพ้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯ ทำให้ควงต้องลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่ถึงสองเดือนนี้สร้างความไม่พอใจให้ควงเป็นอย่างมาก
จากนั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวมามีบทบาททางการเมืองโดยตรง ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนถัดมา ด้วยเหตุความพ่ายแพ้ในสภาผู้แทนฯ ได้สร้างความไม่พอใจ ของควง อภัยวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”มาก ทำให้พวกเขาตัดสินใจจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นในต้นเดือนเมษายน 2489 โดยผลงานทางการเมืองในช่วงแรกเริ่มของพรรคประชาธิปัตย์ คือการตอบโต้รัฐบาลปรีดีทันที
โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวหารัฐบาลปรีดีและเหล่าเสรีไทยว่า ร่วมกันยักยอกเงินจากงบสันติภาพของเสรีไทย แต่ผลการสอบสวนโดยคณะกรรมธิการของสภาผู้แทนฯ ปรากฏว่า ข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างความเสื่อมเสียให้รัฐบาลปรีดีเป็นอย่างมาก และได้กลายเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ในเวลาต่อมา ผนวกกับเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ถูกประกาศใช้นำไปสู่การเลือกตั้งนั้นยิ่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผ่านพรรคการเมืองที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงแรกเริ่มของการก่อตัวนั้น พวกเขาพยายามโฆษณาชวนเชื่อในการหาเสียงการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2489 ว่า การเสด็จนิวัตรพระนครในเดือนธันวาคม 2488 และการเสด็จเยาวราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อช่วงชิงผลงานจากรัฐบาลปรีดี พนมยงค์นอกจากนี้ พวกเขายังได้พยายามอ้างว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนพรรคฯของตน
แต่ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลปรีดียังคงได้รับชัยชนะ จากนั้นพวกเขาจึงได้เริ่มรณรงค์ต่อไปว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมๆกับการโจมตี ปรีดี ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และการเริ่มต้นแผนการโกงการเลือกพฤติสภา ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯทรงบันทึกว่าควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ( A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 547-549 )
พลตำรวจเอก พระพินิจชนคดี มีชื่อจริงว่า พินิจ อินทรทูต (ชื่อเดิม: เซ่ง อินทรทูต) เป็นอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ เมื่อ พ.ศ. 2487 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของธนาคารคนที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เสริมสุข จำกัด โดยมีตำแหน่งเป็นประธานบริษัท ซึ่งนำเข้าเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมโคล่ายี่ห้อ เป๊ปซี่ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2496
พระพินิจชนคดีสมรสกับหม่อมหลวงอรุณ สนิทวงศ์ เป็นต้นสกุล "อินทรทูต" ซึ่งเป็นตระกูลชาวไทยเชื้อสายจีน ภายหลังเมื่อหม่อมหลวงอรุณ ถึงแกอนิจกรรมแล้วก็ได้มาสมรสกับ หม่อมราชวงศ์บุญรับ ปราโมช พี่สาวของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 รัฐบาลใหม่ได้เรียกเอาพระพินิจชนคดี ซึ่งตอนนั้นเป็นนายตำรวจนอกราชการแล้วกลับมารับราชการ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสอบสวนการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘
EmoticonEmoticon