คนเดือนตุลาคมกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย
“ทักษะในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ไม่ต้องพูด พวกเขากลับมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ในทุกสำนักพิมพ์ คนอย่างรุ่นพวกเราๆ ไม่มีทางที่จะเป็นแบบนั้นได้ คือพวกเขาลงเรียนคอร์สแบบเข้มข้น 7 ปี ในป่า 4 ปี ในเมือง 3 ปี ต้องวิเคราะห์การเมืองทุกวัน ประเมินสถานการณ์ จังหวะการเมืองจะถอย จะก้าว คนพวกนี้พัฒนาทักษะการเมืองตลอดเวลา นี่ยังไม่พูดถึงทักษะการเขียน การวิเคราะห์อื่นๆ ในการพัฒนาแผนนโยบายในแต่ละช่วงที่ทำให้คนพวกนี้กลายเป็นนักรณรงค์ทางการเมือง เป็นผู้ช่วย ส.ส. คนหาเสียงให้ ส.ส. ทุกพรรคการเมือง ในการช่วยเขียนคำปราศรัย ทำข้อเสนอ คุณจะรู้สึกว่าเดินไปที่ไหนก็มีคนเดือนตุลา เพราะทักษะที่เขามี เด็ก 17-18 ที่ไหนทำงานพรรคการเมืองตั้งแต่เด็ก ไม่มีหรอก เจเนอเรชั่นพวกเราไม่มีวันที่จะทำอย่างพวกเขาได้
“เป็นทักษะที่ไม่มีคนรุ่นไหน ในชนชั้นไหน ที่มีความสามารถเท่ากับคนเดือนตุลา เพราะเป็นคนที่เข้าใจภาษาของชนชั้นกลาง เขาเป็นชนชั้นกลาง การศึกษาดี มีสถานะทางสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นชนชั้นกลางกลุ่มเดียวที่มีประสบการณ์การอยู่ในชนบท เข้าใจปัญหาสังคมในชนบท และเข้าใจผ่านกระบวนการ Advocate ทั้งกับคนในชนบทและสื่อสารกับคนในเมือง ทักษะในช่วงนั้นมันเป็นสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะ
“ถ้าดูเส้นทางการเข้ามาของคนเดือนตุลาในพรรคการเมืองจะมีประมาณ 2-3 ระลอก คลื่นลูกแรกส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีคอนเน็กชันกับนักการเมือง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา เพราะคนรุ่นนี้ก็จะไปช่วยพรรคสังคมนิยม พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงอยู่แล้ว รวมทั้งพรรคใหม่ๆ อื่นๆ เช่น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, พินิจ จารุสมบัติ, จาตุรนต์ ฉายแสง พวกนี้้เป็นแกนนำนักศึกษาตั้งแต่แรก เป็นที่รู้จักของนักการเมืองอยู่แล้ว
“คลื่นลูกที่สอง จะเป็นคนที่มีคอนเน็กชันกับคนพวกนี้ เช่น ชำนิ ดึงสุธรรม แสงประทุม วิทยา แก้วภราดัย เข้ามาเล่นการเมือง ทั้งในพรรคก้าวหน้าและประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจมากในการแคมเปญของพรรค เขามีคนเดือนตุลาจะเข้ามาร่วม นักการเมืองทุกพรรครู้ว่า พวกนี้ทำงานเป็น ความเป็นคนเดือนตุลามันขายได้ เพราะคนรู้ว่านี่คือยี่ห้อฉลากสินค้า ฉลากนี้บอกเลยว่า รณรงค์การเมืองเป็น ไฮปาร์กโคตรเก่ง คอนเน็กกับชาวบ้าน เครือข่ายชนบท หรือแม้แต่วงการเอ็นจีโอเอง ความเป็นคนเดือนตุลา ใครออกจากป่ามา ช่วงแรกไปเป็นเอ็นจีโอคือไม่มีที่ไปนะ คือไม่อยากรับราชการ ไม่เอารัฐ แต่ก็ไม่อยากทำเอกชน ยังอยากสานต่อสิ่งที่ตัวเองเคยทำตอน 14 ตุลา 6 ตุลา มอส. (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) นี่คือที่หลบภัย เป็นแคมป์ผู้อพยพให้กับเอ็นจีโอที่ออกมาจากป่า ครูประทีป อ.สุลักษณ์ เป็นฮับแรกๆ ในการที่ทุกคนกลับเข้ามา”
ไม่เพียงทักษะเฉพาะที่คนกลุ่มนี้มีติดตัว ในมิติเศรษฐกิจ คนเดือนตุลากลับมาในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังบูมและเป็น Mass Middle Class ที่มาพร้อมกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษากลุ่มแรกในสังคมไทย เพราะมหาวิทยาลัยเพิ่งเริ่มขยายช่วงทศวรรษ 1970 กล่าวคือคนกลุ่มนี้กลับมาในจังหวะที่เปิดรับให้เป็น Established Middle Class และนี่เป็นที่มาที่ทำให้กลายเป็น Established Middle Class ในขบวนการเสื้อเหลือง
EmoticonEmoticon