“พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา” นักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์มองมรดกทางวัฒนธรรมสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่
“พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา” หรือ “แพง” เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่สนใจศึกษางานโบราณคดี งานมรดกทางวัฒนธรรม เป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบัน พชรพรกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
เธอเคยร่วมเป็นหนึ่งในเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 1 เรื่อง Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? ในเวทีนั้นเธอทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อเชื่อมร้อยเรื่องราวกับวิทยากรท่านอื่นๆ
วันนี้เรานัดเธอมาพูดคุยอีกครั้ง เพื่อเล่าเรื่องราวที่เธอกำลังศึกษาอยู่ จะนำมาเชื่อมต่อกับมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอย่างไร ด้วย”พชรพร”เชื่อว่า มรดกทางวัฒนธรรม หรือ “Heritage Industry” เป็นอะไรที่มากกว่าแค่มิติทางสินค้า การท่องเที่ยว หรือการสร้างโครงการใหญ่ๆ แต่ยังสามารถนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจได้ หากมีการพัฒนา “องค์ความรู้” และสร้างฐาน “ข้อมูล” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ
ไทยพับลิก้า: ทำไมถึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์
สาขาที่เรียนคือเศรษฐศาสตร์สาขาประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ค่อยได้ศึกษากันในเมืองไทยและเอเชีย อธิบายคร่าวๆ ก็คือ การใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม มาทดสอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เช่น มาอธิบายปรากฏการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมีอะไรบ้าง
ถามว่าทำไมประวัติศาสตร์ถึงสำคัญ? เพราะว่าในการใช้ทฤษฎีอะไรก็ตาม ถ้าเราสามารถใช้ข้อมูลที่ยืนยันผลข้อมูลได้แล้วว่าเหตุการณ์นั้นตามมาจริงๆ ก็ทำให้ทฤษฎีต่างๆ ที่เราคาดการณ์แม่นยำขึ้น
วิชาเศรษฐศาสตร์ในภาคสมัยใหม่ยกเว้นบางสาขาซึ่งมีการทดลองเข้ามาประกอบ จะใช้การดาวน์โหลดข้อมูลที่จำกัดแค่ไม่กี่สิบปี บางทีไม่ถึงด้วยซ้ำ ทำให้เราไม่เห็นภาพระยะยาวจริงๆ ว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าใช่ มันใช่แค่ไหน ซึ่งเมื่อก่อนจบเศรษฐศาสตร์มาก็ใช้วิธีนี้มาเรื่อยๆ แต่วันหนึ่งคิดว่าข้อมูลพวกนี้มันสื่อถึงจุดเวลาจุดเดียวจริงๆ แล้วมันจะให้คำตอบกับสังคม หรือสื่อถึงตัวแปรของสังคมได้จริงๆ หรือเปล่า ตอนนั้นความมั่นใจทางเศรษฐศาสตร์ก็น้อยลง บวกกับเกิดเหตุการณ์หลายอย่างในโลก รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ
พอจบปริญญาตรี ก็เลือกเรียน Southeast Asian Studies ก็อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิภาคของตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ เคยอยู่มาเจ็ดประเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เลยรู้สึกผูกพันกับภูมิภาคนี้ มันทำให้เห็นความเชื่อมโยงของโลกทั้งในด้านวัฒนธรรมและการค้าไปในตัว เคยใช้เวลาอยู่ตะวันออกกลาง 4 ปี ไปอยู่ยุโรป ไปอยู่ญี่ปุ่น ย้ายไปมาๆ เข้าเอกลักษณ์ของ Silk Road มันก็เลยมาเป็นตัวเรา
ตอนแรกที่เข้าไปเรียน Southeast Asian Studies อยากจะดูว่าระบบ Sustainable Development Model ในภูมิภาคนี้มีปัจจัยตัวแปรอะไรบ้าง เช่น ในเรื่องการเกษตร
ต่อมาระหว่างที่เรียนได้รู้จักกับท่านอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ (อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาจารย์เป็นคนสอน ก็เริ่มเขียนเปเปอร์วิชาของอาจารย์ ก็เลือกสุวรรณภูมิ ด้วยความสนใจแบบงูๆ ปลาๆ
พอเริ่มเรียนจริงๆ ก็เห็นอะไรบางอย่าง เพราะว่านักประวัติศาสตร์ชอบพูดถึงการค้า พูดถึงความมั่งคั่ง อ่านไปอ่านมาพบว่าไม่ค่อยตรงกับทฤษฎีที่เรียนมาเท่าไหร่ ทฤษฎีเรามีปัญหาหรือว่าประวัติศาสตร์มีปัญหา ก็เป็นโจทย์ที่เริ่มตั้งมา
กระทั่งจบลงด้วยการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องสุวรรณภูมิในเส้นทางการค้าโบราณ
ตอนนั้นก็ลองแบบงูๆ ปลาๆ ลองใส่โมเดลวิเคราะห์ International Trade ลงไปในวิทยานิพนธ์นิดๆ หน่อยๆ จนอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์แนะนำว่าให้ส่งเปเปอร์ไป Conference มันมีวิชา Economic History อยู่ ซึ่งเราก็เคยได้ยินวิชานี้ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ ไปซื้อหนังสือเล่มหนึ่งของอาจารย์ Andre Gunder Frank อธิบายความแตกต่างระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก โดยให้เหตุผลว่า โลกตะวันตกรวยขึ้นมาได้เพราะโชคล้วนๆ คือ 1. ไปเจออเมริกา ทำให้ปลดล็อกทางด้านทรัพยากรได้ 2. สถาบันที่ถูก set up ขึ้นมา ความโชคดี ลักษณะเทคโนโลยีที่ผลิตในยุโรปมันตรงกับสิ่งแวดล้อมยุโรป
เขาก็เปรียบเทียบกับกรณีจีน เช่น เรื่องถ่านหิน ถ่านในจีน ลักษณะเหมืองถ่านมีลักษณะเป็นความร้อนสูง ฉะนั้นเทคโนโลยีของจีนจะเน้นการถ่ายความร้อนออก แต่ตัวที่ทำให้เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมได้คือเทคโนโลยีที่ดูดน้ำออกจากบ่อ ซึ่งมันเป็นสภาวะของอังกฤษพอดี
เราก็มองว่าน่าสนใจมาก มันตอบคำถามความแตกต่างของสังคมได้ ตอบคำถามปัจจัยทางกาลเวลาและการพัฒนาได้ ตอนนั้นก็ชอบอาจารย์คนนี้มาก แต่ตอนหลังก็เริ่มไม่เห็นด้วยหลายเรื่อง (หัวเราะ)
ต่อมาพอส่งเปเปอร์ไปที่ญี่ปุ่น ก็ไปเจอกลุ่มอาจารย์ที่ London School Economics (LSE) ได้คุยกับหลายท่าน เขาก็บอกให้เราสมัครมาเลย มาเรียนต่อ ก็เลยไป ระหว่างนั้นก็รู้แล้วว่าตัวเองอยากทำ คือเอเชียไม่มีการทำฐานข้อมูลในลักษณะ Economic History แบบ Macro Data ไม่มีเลย ขนาดจีนก็พึ่งเริ่มมาทำเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ก็อยากทำขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณว่าลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นอย่างไร
เมื่อมาอ่านงานทางภูมิภาคนี้ ยังยึดทฤษฎียุโรปต้นศตวรรษที่ 20 ไว้เยอะมาก อย่างเช่น โครงสร้างสมัยก่อนเศรษฐกิจ จะเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีอะไรเลย เป็นเศรษฐกิจจนๆ ไม่เกิดการค้าขึ้น ซึ่งเมื่อมาดูหลักฐานทางโบราณคดี มันค้านกับความคิดพวกนี้ หรือชนชั้นบนกดขี่ชนชั้นล่าง ใช้แต่แรงงาน เอาทรัพยากรออกไป มันไม่อธิบายการเจริญเติบโตของเมืองเล็กๆ หรือชุมชนเล็กๆ ที่เกิดขึ้น แต่เมืองเล็กๆ เหล่านั้นมีพัฒนาการขึ้นมาเป็นระดับใหญ่ได้
โครงสร้างทฤษฎีเหล่านี้เคยถูกใช้อธิบายเศรษฐกิจสังคมในยุโรป เคยใช้อธิบายเศรษฐกิจสังคมในจีน ก็กลับมาดูว่าทฤษฎีพื้นฐานโครงสร้างมาร์กซิสต์มันไม่เวิร์กเลยนะ มันไม่มีอยู่จริง มันคือการคาดการณ์
ถามว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น เพราะเขาไม่ได้เดินทางมาเอเชีย เขาคิดว่าโลกทั้งโลก รวมทั้งอังกฤษและประเทศอื่นด้วยคือเยอรมัน คือสภาวะในเยอรมันที่เขาอยู่ นั่นคือประสบการณ์ของนักประวัติศาสตร์ยุคนั้น ซึ่งเป็นปัญหาของโครงสร้างทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ทั้งหมดในการวิเคราะห์ แล้วมีการต่อยอดกันมาเรื่อยๆ
เรื่องนี้ก็โดนใจมาก ระหว่างนั้นก็ทำงานการทูตด้วย ก็มีโอกาสได้ไปสหประชาชาติ ก็เห็นว่าปัญหานี้มันยืดมาทุกระดับ เรียกว่าปัญหาการมองโลกจากมุมมองของยุโรป ซึ่งแม้แต่คนในสังคมวิชาการยุโรปในยุคนี้ ก็มองว่ามันไม่ใช่แล้ว
พอไปเรียน LSE ก็เริ่มทำวิทยานิพนธ์ เรื่องแรกก็ทำเรื่องสมัยรัชกาลที่ 3 ดูค่าความแตกต่างของแรงงานระหว่างพม่า ไทย มาเลเซีย ก็ขุดข้อมูลสุดๆ มีเวลา 1 ปี ได้มาจุดหนึ่งก็พบว่าเศรษฐกิจไทยตามหลังพม่าอยู่จริงๆ แต่พอเข้าสู่รัชกาลที่ 4 ฝรั่งเริ่มเข้ามา มันทำให้เราไม่พร้อมในหลายๆ เรื่องในการ Modernize เข้ามาเป็น Modern Center
หลังจากนั้นก็ตั้งใจแล้วว่าเรียนปริญญาเอกแน่ ก็สมัครและได้ทุนทั้งที่ LSE และ อ๊อกซฟอร์ด แต่เลือกที่จะไปอ๊อกซฟอร์ดด้วยเหตุผลว่าเขามีคณะโบราณคดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว เพราะว่าภูมิภาคนี้มีข้อมูลในเชิงกระดาษที่แน่ๆ คือหอจดหมายเหตุ แต่มีข้อมูลจำนวนจำกัด คือข้อมูลที่กู้ได้จากการที่หอจดหมายเหตุเก่า เอกสารเก่าถูกทำลาย ไฟไหม้หลายรอบ เอกสารก็กระจัดกระจาย แต่ Material Culture ของที่มันเป็นวัตถุยังอยู่ ของเหล่านี้เป็นพื้นฐานได้ว่าเราจะเอามาพลิกแพลงยังไงในการศึกษา
เช่น กระดูกมนุษย์ที่ขุดขึ้นมาได้ ข้อมูลทางการแพทย์ตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาล เราสามารถเห็นได้ว่า ถ้าหากว่ากระดูกคนช่วงขายาวขึ้น แสดงว่าคนสูงขึ้น การเปลี่ยนเปลี่ยนทางความสูงโดยเฉลี่ยในระยะยาวแสดงถึงความมั่งคั่งของสังคม เพราะคนได้รับโปรตีน ได้รับสารอาหารดีขึ้น นี่คือการพลิกแพลงแบบหนึ่ง
ถามว่าทำไมมาลงเรื่อง Heritage Industry เหตุผลหลักเพราะว่า ตอนทำต้องทำฐานข้อมูลใหญ่ ก็ไปขอความร่วมมือโดยได้รับความกรุณราจากกรมศิลปากร ในการใช้ฐานข้อมูลของเขา บวกกับดูงานวิทยานิพนธ์ งานแยกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ขุด แล้วเอาทุกอย่างมารวมกันทั้งพม่า ไทย และมาเลเซีย มาเลเซียคือแถวรัฐ เคดาห์ (Kedah) ก็เซอร์เวย์หมด
แต่ฐานข้อมูลพวกนี้มันกระจัดกระจาย บางอันมันหายไป เราต้องไปแหล่งโบราณคดีบ้าง เช็คไซต์บ้าง แล้วก็เอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำบางปะกงด้วย ซึ่งเจอแหล่งโบราณคดีแถวเมืองศรีมโหสถ (จ.ปราจีนบุรี) ทางตอนเหนือของเมือง ตอนนี้พบสุสานโบราณ ซึ่งคาบเกี่ยวกับสมัยแรกเริ่ม กับสมัยทวารวดี
ก็ได้ความร่วมมือจากชาวบ้านทั้งตอนทำเซอร์เวย์และตอนที่คุย พอไปเริ่มคลุกคลีตรงนั้น ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของเรามันถูกปลุกขึ้นมา พอคุยมากๆ รู้สึกว่าของพวกนี้มันพัฒนาได้ งานหลายอย่างที่นักโบราณคดีทำอยู่ หรืองานศึกษาพวกนี้สามารถ Outsource ให้ชุมชนได้ ทำไมถึงลักลอบขุดกันอยู่ ทำไมถึงมีปัญหาความยากจน
มีอยู่ที่หนึ่งได้เข้าไป ผู้ใหญ่บ้านร้องไห้เลย เพราะว่าหลานตัวเองไปลักลอบขุดในแหล่งโบราณคดีใต้ป่าไผ่ เวลาขุดก็ต้องอาศัยน้ำ เวลาฝนตกแรงๆ ลูกปัดมันจะลอยขึ้นมา เด็กก็ไปมุดรูขุดใต้ป่าไผ่ ถ้าดินถล่มลงมาก็จบเลย คือมันเป็นพื้นที่การเกษตรที่ยังไม่เจริญ แต่ก็ไม่ได้ไกลจากตัวเมือง มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งโบราณคดีได้ ที่จะเชื่อมต่อ
ทั้งนี้เชื่ออย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าชุมชนใดก็ตาม เขาต้องการดำรงเอกลักษณ์ของเขาไว้ก็จริง แต่มนุษย์ทุกคนมีความต้องการเชื่อมต่อกับโลกสมัยใหม่รอบๆ ตัวเรา กระแสพวกนี้ไม่ว่ายังไงก็ห้ามไม่ได้ สอนให้มีความรับผิดชอบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นทุนนิยมเต็มตัว แต่ว่าให้มีความรู้ ใช้แล้วเดินเข้าไปพร้อมกับสังคมเมืองกรุงเทพฯ ได้ นี่คือสิ่งที่เห็นว่าโบราณคดีมอบให้คนได้ เพราะมันเป็นศาสตร์ของโบราณคดี และการศึกษาประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วคือ Skill Sector
ตั้งแต่นั้น ทุกครั้งทุกแหล่งที่ไป ก็ได้ไปคุยกับคนที่ลักลอบขุดบ้าง หมู่บ้านบ้าง ก็ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งเพราะดูปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ด้วย ก็ได้ความรู้เพิ่มเติมไปด้วย สนุกมาก ช่วง 1 ปีที่เซอร์เวย์ไซต์ต่างๆ ไปตั้งแต่สุโขทัย ลงไปถึงสงขลา ทะลุไปเคดาห์ ก็เป็นที่มาว่าทำไมถึงเริ่มมาสนใจเรื่อง Heritage Industry
ไทยพับลิก้า: กางแผนที่ยังไงตอนทำเซอร์เวย์ ว่ามันต้องไปตรงไหน อย่างไร
ไปตามสำนักศิลปากรค่ะ ถ้าเป็นพม่าก็ติดต่อกระทรวงวัฒนธรรมเขาก่อน สนุก ได้ความรู้เยอะมาก ตอนไปพม่าก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ได้ลงไปรัฐมอญ ไล่ทีละหมู่บ้านไปเลย
ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะลงหนักขนาดนั้น แต่ข้อมูลไม่มี ต้องไปเอาข้อมูลในพื้นที่ ใช้ความพยายามหน่อย แต่ส่วนใหญ่ก็ขอความรู้จากนักโบราณคดีเป็นหลัก นักโบราณคดีจะรู้อะไรเยอะมาก เพราะเขาลงพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร แต่ละคนค่อนข้างมีอินไซด์ที่ลึก
ไทยพับลิก้า: ที่บอกว่าเอเชียไม่ค่อยมีการทำฐานข้อมูลในลักษณะ Economic History เป็นเพราะอะไร
ไม่มีการรวมศูนย์กลาง แต่มองว่าส่วนหนึ่งที่ไทยทำได้เลยก็คือการปรับตัวเองเป็น “Data Economy” คือ Data Driven สอนให้คน Data Literate เรายังไม่ค่อยคุยกันเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะค่านิยม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทยอย่างเดียว ในตะวันตกก็มี
ยกตัวอย่างง่ายๆ คนชอบบอกว่า ไม่เก่งเลขนะ กล้าพูด แต่จะไม่มีใครกล้าพูดว่าใช้ภาษาไม่เก่ง แปลกไหม ทั้งที่เลขก็เป็นภาษาแบบหนึ่ง แล้วปัญหาก็คือการตัดสินใจอะไรทุกวันนี้เพราะว่าไม่มองให้ละเอียด
คือการคำนวณทำให้เราเห็นข้อมูลในเชิงที่ละเอียดขึ้น อย่างน้อยการตัดสินใจในชีวิตประจำวันหรือการวิเคราะห์ข้อมูล คนเราควรจะสามารถจับตัวเลขได้ง่ายๆ เช่น จะตัดสินใจเรื่องเลือกตั้ง ถ้าดูตัวเลขไม่เป็นก็จบ ตัวเลขมันก็หลอกกันได้เหมือนกัน
ซึ่งเมื่อได้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อ๊อกซฟอร์ด ก็เห็นความสำคัญของ Data Economy ที่อังกฤษพยายามสร้างขึ้นมา อย่างน้อยการเอาผลเลือกตั้งมาให้เด็กนั่งวิเคราะห์ เข้าใจไหมว่าเปอร์เซ็นเทจมันหมายความว่าอะไร
อังกฤษพยายามสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นฐานข้อมูลของโลก คือ Monopolize ข้อมูล ใครจะทำงานวิจัยต้องจ่ายเงิน ซื้อฐานข้อมูล ไทยก็ทำได้เหมือนกัน เพราะมีนักสถิติเยอะ ค่อนข้างจะพัฒนาในด้านสังคมศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์
“เราน่าจะเอาตรงนี้มาใช้ แล้วข้อมูลโบราณคดีราคาแพงนะคะ ถ้าหากนักวิจัยจากสถาบันต่างประเทศมาซื้อ มันสร้างมูลค่าให้ประเทศเราได้เลย ตั้งฐานข้อมูลดีๆ Monopolize ข้อมูลในภูมิภาค ก็เท่ากับกุม Knowledge Capital ไว้แล้ว”
ไทยพับลิก้า: ปัจจุบันข้อมูลของไทยมันอยู่ในระดับไหน หลังจากที่คุณได้เข้ามาทำ
ตอนนี้ค่อนข้างมีการทำซ้ำซ้อนกันเยอะ และการเข้าถึงข้อมูลใช้อยู่เฉพาะจุดเดียว ไม่มีการพลิกแพลงข้าม อย่างเช่นกรมศิลปากรมีฐานข้อมูลของตัวเอง ศูนย์มานุษยวิทยาก็มีฐานข้อมูลของตัวเองเหมือนกัน
งานขุดที่อยู่ที่กรมศิลปากร บางครั้งก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ยากหน่อย ต้องใช้การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน ซึ่งทำให้การเข้าถึงข้อมูลหรือการนำมาใช้ข้อมูลระดับรวมมันยากขึ้น
แม้กระทั่งงานประวัติศาสตร์ศิลป์ การเปิดพิพิธภัณฑ์ ยังใช้ว่าใครมีคอนเนคชั่นกับใครอยู่เลย ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ หรือหนังสือจัดตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็เป็นของกรมศิลป์ แต่มันควรมีงานตีพิมพ์ของนักวิชาการ หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์มารวมกันมากกว่านั้น คือเมืองไทยขาดคนที่ช่วยประสานงานแล้วจัดระบบเรื่องพวกนี้ให้เข้ามาเป็นองค์รวมทางเศรษฐกิจให้ได้
ไทยพับลิก้า: จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นนโยบายไหม
ควรที่จะเป็นโยบายในการแก้ปัญหา อย่างเรื่องที่เห็นชัดคือการจัดทะเบียนพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้มีปัญหาเรื่องทะเบียนขึ้นมา แต่ถามว่าคนในพิพิธภัณฑ์ไม่ทำทะเบียนเหรอ ก็ไม่ใช่ ทะเบียนทุกที่ที่ไป ทำ แล้วทำละเอียดด้วย
แต่ถามว่าทรัพยากรบุคคลมีพอมั้ย ไม่ งบประมาณต่อปีมีพอมั้ย ไม่ พิพิธภัณฑ์ต้องไปทำงานอย่างอื่นอีก เจ้าหน้าที่มีอยู่คนเดียวใน 365 วัน เข้าใจเลยว่ามันเหนื่อย งบประมาณตรงส่วนที่เป็นตรวจสอบมาช่วยพัฒนาระบบ หรือไปดึงองค์กรอื่นซึ่งถนัดเรื่องการทำฐานข้อมูลมาช่วยทำงานดีกว่าไหม นั่นคือสิ่งที่สัมผัสได้ถึงงานของเขา ขาดการประสานงานอย่างเต็มๆ
หลายพิพิธภัณฑ์ พอเจ้าหน้าที่เป็นอย่างนี้ ถามว่าทำไมระบบมันไม่ตรงกัน ก็เพราะว่าแม้ส่วนกลางจะอบรมไปครั้งสองครั้ง แต่กับการสร้างฐานข้อมูลเขาไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง หลายคนจบประวัติศาสตร์ศิลป์ จบการบริหารพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้จบเรื่องไอที มันเป็นการคาดหวัง โหลดงานให้คนคนเดียวมากเกินไป ซึ่งน่าจะเป็นโครงสร้างปัญหาที่พบทั่วไปในระดับกว้าง
เพราะการจัดเก็บมันต้องแยกของ สมมติหม้อทั้งหมดมีเกิน 10 ชนิด ซึ่งต้องค่อยๆ แยก ค่อยๆ ดู ค่อยๆ จด ค่อยๆ วัด ถามว่าเขาจะเอาเวลามาจากไหน เพราะแต่ละชิ้นใช้เวลานานมาก
“ถามว่าตะวันตกทำอย่างไร แพงทำงานในพิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษ ก็จะเปิดให้ใครก็ได้ที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเหรียญ เราสามารถไปช่วยภัณฑารักษ์แยกเหรียญได้เลย ก็เป็นโปรไฟล์ของเรา เราก็เรียนรู้ไปด้วย ภัณฑารักษ์ก็มาสอนด้วย คนพวกนี้ก็จะกลายเป็นทรัพยากรต่อไป”
มีอยู่คนหนึ่งสนใจเรื่องถ้วยโรมันจริงๆ เป็นคุณลุงอายุ 60 เริ่มทำงานตั้งแต่ก่อนเกษียณสัก 2-3 ปี จนปัจจุบันอายุ 65 กว่า กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วยโรมันชนิดนี้ของอังกฤษโดยที่แกไม่ได้จบการศึกษาอะไรมาเลย แต่เป็นวิศวกร มีความสนใจ ชอบ
นี่คือความสวยงามของงานด้านพิพิธภัณฑ์ ไม่จำเป็นที่งานทุกชนิดต้องจบปริญญา ส่วนงานที่ต้องใช้ปริญญาจริงๆ คืองานวิจัย งานแบบที่ตัวเองทำ คือดูผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว
สรุปคือเรามีฐานข้อมูลเยอะ แต่ได้มีการจัดระบบการประสานข้อมูลออกมา แล้วฐานข้อมูลพอทำออกมาแล้วซ้ำซ้อน มันทำให้ขยายฐานข้อมูลให้ ละเอียดไม่ได้ ฐานข้อมูลก็จะขาดๆ เกินๆ เติมบ้างไม่เติมบ้าง หลายส่วนก็แหว่งไป ทำให้การนำออกมาใช้ก็ไม่ทั่วถึง
อีกส่วนหนึ่งคือเกิดปัญหาในเชิงลึกขึ้น ในแง่ความแม่นยำของข้อมูล เพราะงานด้าน โบราณคดี แหล่งโบราณคดีถ้าจะขุดให้ถูกต้องเลย อย่างน้อยต้องมีนักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านดิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระบบหลายๆ อย่าง แม้กระทั่งเรื่องถ้วยชาม เหล็ก นักประวัติศาสตร์บางแหล่งใช้วิศกรด้วย ดึงผู้เชี่ยวชาญหลายจุดเข้ามา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษา
แล้วแหล่งหนึ่งขุดลงไป สมมติว่าจะขุดที่ลพบุรี ชุมชนวิทยา ก็ผู้ชำนาญการคนหนึ่งแล้ว ขุดลงไปอีกสมัยลพบุรี อีกคนหนึ่ง ลงไปอีกสมัยทวารวดี ลงไปอีกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 4 ชั้น 4 คน มันต้องครบองค์รวม แล้วคนเหล่านี้ก็จะมีผู้ช่วยแตกออกไปอีก เป็นการสร้างงาน ถามว่าชุมชนเข้ามาเรียนรู้ได้มั้ย งานบางอย่างเอาเข้ามาเรียนรู้ได้ แต่เมืองไทยขุดหลุมนึง มีเฉพาะนักโบราณคดี จบ
EmoticonEmoticon