วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จากกรณี อู๋ หย่งหนิง; จง "อย่าคลิก 'ไลก์' อย่าคลิก 'ติดตาม' นี่คือสิ่งที่เราสามารถพอทำได้ เพื่อช่วยรักษาชีวิตคน"


"การดูคลิปเขาและชมเชยเขาก็เหมือนกับ...การซื้อมีดให้คนที่ต้องการจะแทงตัวเอง หรือสนับสนุนคนที่ต้องการกระโดดออกจากตัวตึก"
"อย่าคลิก 'ไลก์' อย่าคลิก 'ติดตาม' อย่างน้อย นี่คือสิ่งที่เราสามารถพอทำได้ เพื่อช่วยรักษาชีวิตคน"

อู๋ หย่งหนิง: เมื่อนักท้าความตายถึงคราวตาย ใครคือสาเหตุ?

เดือนที่แล้ว อู๋ หย่งหนิง เดินทางไปทำกิจกรรมที่เขาชื่นชอบที่สุด นั่นก็คือการปีนตึกสูงโดยไม่มีอุปกรณ์นิรภัย และถ่ายคลิปตัวเองขณะห้อยโหนอยู่ขอบดาดฟ้าตึกด้วยมือข้างเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นดูเหมือนเกือบจะเป็นเหตุสุดวิสัย นักปีนตึกชาวจีนพลัดตกลงมาจากตึกสูง 62 ชั้น ทำให้เขาเสียชีวิต
ผู้ติดตามเขาหลายพันคนเริ่มรู้สึกกังวลที่ไม่เห็นเขาโพสต์คลิปผาดโผนทางเว็บหั่วซาน (Huoshan) และไคว่โส่ว (Kuaishou) แต่เพิ่งจะมีการยืนยันการเสียชีวิตของเขาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยแฟนสาวของเขาเป็นคนยืนยันก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ทางการก็ออกมายืนยันเช่นกัน
คลิปที่น่าจะเป็นคลิปสุดท้ายในชีวิตของเขา ขณะพยายามปีนตึกในเมืองฉางซา เริ่มมีการส่งต่อกันในโลกออนไลน์ในสัปดาห์นี้
ความตายของเขาทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการ "หาเงินจากคลิป" ในอุตสาหกรรมวิดีโอทางอินเทอร์เน็ต
มีหลายคำถามเกิดขึ้นว่า ช่องทางในการเผยแพร่คลิปเหล่านี้ และผู้ชมคลิป มีส่วนในการรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขาหรือไม่?
รายงานข่าวของเป่ยจิงนิวส์ (Beijing News) เมื่อไม่นานนี้พบว่า นายอู๋ ได้โพสต์คลิปวิดีโอสั้นและไลฟ์สตรีมมากกว่า 500 คลิปทางหั่วซาน ซึ่งเขามีผู้ติดตามราว 1 ล้านคน และทำเงินได้อย่างน้อย 550,000 หยวน หรือราว 2 ล้าน 9 แสนบาท โดยล่าสุดที่หั่วซานได้โฆษณาคลิปของเขามากอย่างเห็นได้ชัดคือเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา


คำขวัญของหั่วซานที่ปรากฏอยู่ทางเว็บไซต์คือ "ถ่ายวิดีโอ ก็ทำเงินได้"Image copyrightHUOSHAN.COM
คำบรรยายภาพคำขวัญของหั่วซานที่ปรากฏอยู่ทางเว็บไซต์คือ "ถ่ายวิดีโอ ก็ทำเงินได้"

รายงานข่าวนี้ ทำให้มีคนแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อระดับประเทศจำนวนมาก
บทความชิ้นหนึ่งใน เดอะ เพเพอร์ ระบุว่า "นักไลฟ์สตรีมเหล่านี้ทำคลิป "เสี่ยงตาย" ขณะที่เว็บไซต์เหล่านั้นทำกำไรในฐานะตัวกลาง...[เรา] ไม่ควรปล่อยให้เว็บเหล่านี้เป็นเหมือนกับสมรภูมิรบที่โหดเหี้ยมอำมหิต"
สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน ระบุในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งว่า เว็บไซต์เช่นนั้น "ไม่ควรมุ่งหาแต่กำไร โดยเลือกที่จะไม่สนใจความจริงที่ว่า วิดีโอจำนวนมากอาจทำให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อสังคมตามมาได้"
หั่วซาน ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้สนับสนุนคลิปผาดโผนของนายอู๋ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า ทางเว็บไซต์ "ให้ความเคารพจิตวิญญาณในการออกค้นหาและผลิตผลงานของนักกีฬาแนวผาดโผนมาโดยตลอด" แต่ทางเว็บก็ "ระมัดระวังอยู่เสมอ เราไม่สนับสนุน และไม่เคยลงนามในข้อตกลงใด ๆ" กับพวกเขา
ทางเว็บหั่วซานกำลังฟ้องร้องไซน่านิวส์ (Sina News) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน หลังจากที่รายงานคำกล่าวหาของญาตินายอู๋ว่า ทางหั่วซานสนับสนุนเงินในการปีนตึกที่เป็นเหตุให้นายอู๋ถึงแก่ความตาย
ด้านเว็บไซต์ไคว่โส่ว ปฏิเสธเช่นกันว่า ไม่ได้ร่วมมือกับนายอู๋ จากการตรวจสอบของบีบีซีเมื่อไม่นานนี้ พบว่า คลิปหลายคลิปของนายอู๋ ถูกนำออกจากเว็บไซต์ทั้งสองแห่งแล้ว
'เรี่ยไรเงินให้เขาไปตาย'
แม้ไม่มีใครบังคับให้เขาไปปีนตึก แต่มีคนตั้งคำถามว่า ผู้ชมคลิปของนายอู๋มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขาด้วยหรือไม่?
การอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับการมีส่วนเกี่ยวข้องของผู้ชมคลิปเริ่มมากขึ้น ขณะที่มีคนจำนวนมากทั่วโลกพากันออกไป "ปีนหลังคาตึก" และโพสต์คลิปทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยในรัสเซียมีคนออกไปทำแบบนี้จำนวนมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเสียชีวิตไปแล้วหลายคน
แต่คำถามนี้เจาะจงไปที่จีน เพราะนักไลฟ์สตรีมและนักทำคลิปวิดีโอไวรัลสามารถทำเงินจากผู้ที่ติดตามพวกเขาได้โดยตรง เว็บไซต์สำหรับเผยแพร่คลิปวิดีโอเหล่านี้จำนวนมากอนุญาตให้ผู้ติดตามส่งของขวัญเสมือนจริง ซึ่งสามารถนำไปแปลงเป็นเงินสดได้
บทความของ เดอะ เพเพอร์ กล่าวหาผู้ชมคลิปอย่างผู้ชมคลิปของนายอู๋ว่า "ซื้อชีวิต" ขณะที่ผู้แสดงความคิดเห็นคนหนึ่งในเว็บไซต์จือฮู (Zhihu) ระบุว่า "ทุก ๆ คนที่ 'ชอบ' (นายอู๋) ต่างก็มีส่วนร่วมในการเรี่ยไรให้เขาไปตาย"
ส่วนผู้ใช้งานเครือข่ายเวยโป๋ (Weibo) คนหนึ่ง บอกว่า "การดูคลิปเขาและชมเชยเขาก็เหมือนกับ...การซื้อมีดให้คนที่ต้องการจะแทงตัวเอง หรือสนับสนุนคนที่ต้องการกระโดดออกจากตัวตึก"
"อย่าคลิก 'ไลก์' อย่าคลิก 'ติดตาม' อย่างน้อย นี่คือสิ่งที่เราสามารถพอทำได้ เพื่อช่วยรักษาชีวิตคน"
ไร้การควบคุม
การอภิปรายกันถึงเรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่จีนพยายามอย่างมากในการควบคุมอุตสาหกรรมวิดีโอทางอินเทอร์เน็ตที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนหลายล้านคนถ่ายคลิปตัวเองออกอากาศสดทางไลฟ์สตรีม และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 710 ล้านคนของจีนก็กำลังชมพวกเขาอยู่

จีนขึ้นชื่อในด้านการตรวจสอบควบคุมเนื้อหา และมีข้อจำกัดทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก แต่ในวงการไลฟ์สตรีมและคลิปวิดีโอสั้นยังคงเป็นพื้นที่ที่ไร้การควบคุม
การแข่งขันที่ดุเดือดเพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาชม ทำให้เกิดคลิปแปลก ๆ จำนวนมาก ตั้งแต่กินปลาทองสด ๆ กินไข่ดิบ ไปจนถึง การเต้นเปลื้องผ้า และ "ปีนหลังคาตึก"
เว็บไซต์บางแห่งสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่าน เว็บไซต์หั่วซานประกาศว่าจะแจกเงิน 1 ล้านหยวน หรือราว 5 ล้านบาทให้แก่ผู้ที่ทำคลิปไวรัล
ความพยายามอย่างหนึ่งของรัฐบาลในการควบคุมอุตสาหกรรมที่กำลังคึกคักนี้คือ เมื่อปีที่แล้วได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์การไลฟ์สตรีม เช่น ห้ามเนื้อหา "ลามกอนาจาร" รวมถึง "การกินกล้วยแบบยั่วยวน" และบังคับให้เว็บไซต์ต่าง ๆ เพิ่มการควบคุมและเฝ้าระวังเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ตัวเอง
การตายของนายอู๋ทำให้เกิดการอภิปรายกันว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินการมากกว่านี้ เช่น การกำกับดูแลที่มากขึ้น หรือไม่ หนังสือพิมพ์เดอะ พีเพิลส์ เดลี ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุผ่านทางเวยโป๋ว่า "ไลฟ์สตรีมที่เลวร้ายควรถูกควบคุม"
หนึ่งในผู้ใช้งานเวยโป๋ บอกว่า "ควรจะยกเลิกไลฟ์สตรีมจำพวกที่ดึงดูดให้คนเข้ามาดู" ขณะที่อีกคนบอกว่า "อะไรก็ตามที่พ่อแม่ไม่อยากให้ออกอากาศควรจะลบทิ้งทั้งหมด"
แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า การที่มีคนออกมาเรียกร้องการตรวจสอบควบคุมเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง
"โอ้ กำลังหาข้ออ้างอีกอย่างในการควบคุมเว็บโพสต์วิดีโออยู่เหรอ?" หนึ่งในผู้ใช้งานเวยโป๋ตั้งคำถาม
"เมื่อคุณไม่สามารถควบคุมอะไรได้ คุณก็แค่อยากจะเอามันออกไป และเมื่อคิดอะไรไม่ออก สุดท้ายก็ได้แต่โทษไลฟ์สตรีม"

ที่มา : BBC Thai


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก