วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

บีบีซีไทย เผยในปีหน้า! รัฐบาลจะผลักดันให้มี "นักรบไซเบอร์" 1,000 คน


นักรบไซเบอร์: อาชีพนี้เหมาะกับคุณหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวเมื่อเช้านี้ว่ารัฐบาลกำลังผลักดันให้มี "นักรบไซเบอร์" รวม 1,000 คนภายในปีหน้า เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์รองรับแผนพัฒนาดิจิตัล
นี่อาจจะเป็นโอกาสการทำงานสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความท้าทาย
"นักรบไซเบอร์" มีหน้าที่หลักในการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยทางด้านอินเทอร์เน็ต และผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำงานกับกองทัพมากว่า 10 ปี ได้เคยอธิบายกับบีบีซีไทยว่านักรบไซเบอร์ไม่ได้ทำงานเชิงบุกรุกหรือต่อสู้แต่อย่างใด

แต่ถึงแม้การทำงานจะเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัย ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศยังเชื่อว่า หน้าที่ของนักรบไซเบอร์นี้ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางที่หาได้ไม่ง่ายนักในประเทศ

นักรณรงค์ชูป้ายเรียกร้องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2559Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพนักรณรงค์ชูป้ายเรียกร้องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2559

พวกเขาจะมาจากไหน
"ยากมากครับ เพราะว่าบุคลากรพวกนี้ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างมาก คนที่อยู่ในอาชีพ IT หรือ server security บ้านเรามันน้อยมาก" ภาณุทัต เตชะเสน เจ้าของบริษัทจิมมี่ซอฟต์แวร์ และอดีตกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าว
ภาณุทัตกล่าวว่าการตื่นตัวด้านความปลอดภัยไซเบอร์เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเว็บไซต์ส่วนใหญ่ของไทยขาดการดูแลด้านความปลอดภัยอย่างถูกต้อง
เขาอธิบายว่าโดยทั่วไปแล้ว เวบไซต์จะต้องอาศัยการทำงานของโปรแกรมในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ "ซึ่งโปรแกรมพวกนี้มันมักจะมีช่องโหว่ และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็จะทำการอัพเดทเพื่ออุดช่องโหว่เป็นระยะๆ"
แต่โดยธรรมชาติของการจ้างบริษัทพัฒนาเว็บไซต์ในไทย ทั้งของรัฐและเอกชน จะเป็นสัญญาจ้างครั้งเดียว โดยไม่มีระบบบำรุงรักษา (maintenance) ทำให้มีความระดับความปลอดภัยค่อนข้างน้อย ตามความเห็นของ ภาณุทัต

แรนซัมแวร์Image copyrightGETTY IMAGES

"ถึงเนื้อหาบนเว็บไม่เปลี่ยน แต่ความปลอดภัยต้องมีการปรับปรุงตลอดเวลา" เขากล่าว "พอไม่ได้มีการอัพ patch ก็เลยเป็นการง่ายที่จะเข้าไปสแกนว่ามีช่องโหว่อยู่ที่ไหนบ้าง"
ภาณุทัตเชื่อว่านอกจากเรื่องอัตราค่าตอบแทนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการจ้างผู้มีความสามารถเฉพาะทาง การสอบประวัติผู้เข้าทำหน้าที่นักรบไซเบอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะพวกเขาจะมีสิทธิมากกว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป
ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะเฉพาะทาง
ทั้งสองอย่างนี้อาจเป็นเหตุผลที่ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบกได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในกองทัพหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี 2560 เพื่อพัฒนาทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานด้านไซเบอร์
"ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นเขาก็จะเอาคนที่มีอยู่แล้วเอาไปอบรมเพิ่ม แต่ความชำนาญที่ได้ก็จะต่างกันแน่ๆ เทียบกับการที่เขารับคนที่ตรงสายงานจริงๆ แบบซื้อตัวเลย แต่ข้อเสนอก็ต้องดีจริงๆ เขาถึงจะไปทำ" ผศ.ดร.สุระสิทธิ์ ทรงม้า อาจารย์หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าว
สุระสิทธิ์ เชื่อว่าคนที่จะทำหน้าที่เป็นนักรบไซเบอร์ได้ดี ควรจะต้องมีความรู้มากกว่าในระดับพื้นฐานที่สอนกันส่วนมากในมหาวิทยาลัยในหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ
"เด็กๆ ที่เรียนทางไอทีก็จะมีพื้นฐานทาง security ป้องกันตนเองได้ แต่ถ้าไปทำงานเป็นนักรบไซเบอร์จริงๆ ถ้าไม่ได้เรียนและมีประสบการณ์โดยตรงก็จะไม่มีทางจะชำนาญได้จริงๆ" เขากล่าว

อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาในปัจจุบันImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาในปัจจุบัน

การดูแลระบบคอมพิวเตอร์ปกติกับการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์นั้นต่างกัน ตามความเห็นของดร.สุระสิทธิ์ โดยเฉพาะในระดับขั้นที่ต้องต่อสู้กับการบุกรุกหรือตามติดผู้กระทำผิดออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันได้มีเปิดอบรมในเรื่องนี้มากขึ้น
นักเรียนในหลักสูตรของดร.สุระสิทธิ์ มีประมาณ 30 คนต่อรุ่น และเมื่อจบการศึกษาส่วนมากก็ทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องอย่าง โปรแกรมเมอร์ และ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ตามหน่วยงานราชการและเอกชน
เขาเชื่อว่านักเรียนเหล่านี้สามารถต่อยอดทักษะเพื่อทำหน้าที่แบบนักรบไซเบอร์ได้ แต่ไม่ใช่ปรัชญาของหลักสูตรปัจจุบันซึ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากกว่า
"ผมว่าไม่ยากนะ [ที่จะหาบุคลากร] มันมีคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่เค้าไม่เปิดเผยเฉยๆ คนที่สนใจมันมีแต่เขาอาจจะไม่ได้มีวุฒิการศึกษาที่มันตรงตามต้องการ แต่คนที่ชื่นชอบงานแนวนี้ หรืออยากลองทำ มันมีอยู่แล้ว"
เขากล่าวว่าเงินเดือนเฉลี่ยของนักเรียนเพิ่งจบใหม่ในวงการไอทีอยู่ที่ราว 2 หมื่นบาท ซึ่งเขาคิดว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายมากกว่านั้นหากต้องการบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทาง และหากมีการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง น่าจะทำให้เกิดหลักสูตรเพื่ออาชีพแบบนี้เพิ่มมากขึ้น

ผู้ทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านซิงเกิลเกทเวย์เมื่อเดือนธันวาคมปี 2559Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพผู้ทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านซิงเกิลเกทเวย์เมื่อเดือนธันวาคมปี 2559

ทักษะการเฝ้าระวังเนื้อหา
นอกจากการเฝ้าระวังภัยจากการโจมตีโดยแฮกเกอร์แล้ว อีกหน้าที่หนึ่งของ นักรบไซเบอร์ คือการสอดส่องดูแลเนื้อหาและข้อมูลที่ผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ต
เว็บไซต์ พันทิป หนึ่งในเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อหาที่ขอบเขตกว้างครอบคลุมประเด็นสำคัญของโลกไซเบอร์ของไทยหลายส่วน ทำให้ปัจจุบันต้องมีผู้ดูแลเนื้อหาบนเวบบอร์ดเกือบ 10 คน
ฝ่ายบุคคลของบริษัทอินเทอร์เน็ต มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของพันทิป บอกว่าการหาผู้ดูแลเว็บบอร์ดที่ดีนั้นใช้เวลาคัดเลือกยาวนาน และนอกจากความคุ้นเคยกับเว็บไซต์แล้ว การใช้เหตุผลเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้สมัคร
"ต้องมี ตรรกะ ที่ดี การวิเคราะห์ที่ดี ในการอ่านกระทู้ เพราะในการทำงานจะต้องสกรีนทั้งหมด ทั้งกระทู้และความเห็น และตัดสินใจ" หนึ่งในพนักงานคัดเลือกผู้สมัครกล่าว
นอกจากนี้ในประกาศรับสมัครงานตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ดูแลเว็บบอร์ด ของ Pantip.com ยังระบุว่าหากจบการศึกษาในสาขาจิตวิทยา หรือ รัฐศาสตร์จะพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งฝ่ายบุคคลได้อธิบายเสริมว่าความรู้ด้านจิตวิทยาและการใช้ความคิดวิเคราะห์ จะทำให้ผู้ทำงานในตำแหน่งนี้จับประเด็นและตีความได้เป็นกลางมากที่สุด
ที่มา: BBC Thai


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก