"ถ้าไม่มีเงิน ก็ต้องติดคุกเลยหรือ" คือหนึ่งในคำถามที่ดังขึ้นในวงหารือระหว่างทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กับประชาชน 30 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหา คดีฝ่าฝืนมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กรณีร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หลังร่วมกิจกรรม "นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน
วงหารือดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 10.15 น. บริเวณตลาดสามย่าน ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง หลังทนายความเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน แล้วได้รับแจ้งว่าพนักงานสอบสวนจะคุมตัวผู้ต้องหาทุกคนไปขออำนาจฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน และให้ไปทำเรื่องขอประกันตัวในชั้นศาลเอาเอง สำหรับแนวทางร่วมกันของผู้ชุมนุมกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" คือจะเดินทางไปต่อสู้คดีพร้อมกันทุกคน เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ซึ่งในการทำเรื่องขอประกันตัวต้องใช้เอกสารส่วนตัว และวางหลักทรัพย์ 2 หมื่นบาท/คน แต่ผู้โดนหมายเรียกส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมมา
- จาก "รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" ถึงนัดชุมนุมไล่รัฐบาล คสช. 10 ก.พ.
- ใช้ "อานันท์โมเดล" กำหนด "โรดแมปครั้งสุดท้าย" วิษณุเผยรู้วันเลือกตั้งแน่ มิ.ย. นี้
- ส่อเลื่อนวันเลือกตั้งครั้งที่ 4 จะมีใครเป็น "โมฆะบุรุษ"
ล่าสุดเวลา 11.55 น. น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ เป็นตัวแทนผู้ต้องหารวม 33 คน เข้ายื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน แจ้งขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนนัดแรก ออกไปเป็นวันที่ 8 ก.พ. เวลา 09.00 น.
น.ส.ภาวิณีกล่าวว่า ประชาชนได้แสดงความบริสุทธิ์ใจในการมาตามหมายเรียก ไม่มีเจตนาหลบหนี และพร้อมให้การปฏิเสธ แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนจะคุมตัวไปศาล หากทำเรื่องขอประกันตัวไม่ทันวันนี้ ประชาชนอาจต้องติดคุกเพราะติดวันเสาร์-อาทิตย์ จึงขอใช้สิทธิตามกฎหมายในการเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และเพื่อรวบรวมหลักทรัพย์ประกันตัว ซึ่งทางศูนย์ทนายฯ อาจจัดกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" เพราะผู้ต้องคดีเหล่านี้ก็เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีเงินทองมากมาย
ส่วนที่มีรายงานว่าพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เตรียมออกหมายเรียกรอบ 2 ทันทีเที่ยงวันนี้ ทางทนายความให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่คาดหมายอยู่แล้ว ว่ามีความพยายามเร่งรัด เพื่อออกหมายเรียก 2 หมาย และนำไปสู่หมายจับ แต่เชื่อว่าศาลจะใช้ดุลพินิจว่าการดำเนินการของพนักงานสอบสวนเป็นธรรมหรือไม่
นายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสของสำนักข่าวหลายแห่ง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีนี้ เดินทางมาถึง สน.ปทุมวัน เป็นคนแรกตั้งแต่ 06.00 น.เศษ โดยบอกว่า "ตื่นเต้นมาก นอนไม่หลับเลย ที่ผมโดนแบบนี้ ผมเสียชาติเกิดไหม ถูกกล่าวหาลอย ๆ ทั้งที่บัตร นปช. ก็ไม่เคยมี มีแต่บัตรนักข่าวเพราะเป็นผู้สื่อข่าวมากว่า 40 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ การต้องมาตกเป็นผู้ต้องหาเช่นนี้ เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผม" พร้อมยืนยันจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และทางทนายความได้แนะนำให้ไปให้การในชั้นศาลทีเดียว
ส่วน น.ส.ณัฏฐา มหัทนา นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่า ผู้จัดกิจกรรมชุมนุมที่สกายวอล์คได้ใช้กูเกิล แมปตรวจสอบแล้ว ไม่ได้อยู่ในเขต 150 เมตรจากวังแน่นอน
นอกจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ น.ส.ณัฏฐายังถูกตั้งอีก 2 ข้อหาร่วมกับบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำรวม 7 คนคือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และกระทำการยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
อย่างไรในกลุ่ม 7 คนนี้ มีเพียง น.ส.ณัฏฐาเพียงคนเดียวที่เดินทางมา สน.ปทุมวัน โดยได้เตรียมหลักทรัพย์ 2 แสนบาทไว้ยื่นเรื่องขอประกันตัวต่อศาลด้วย ซึ่งคดีของเธอและแกนนำรวม 7 คน อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญากรุงเทพใต้
นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ และสมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ซึ่งเป็นแกนนำจัดการชุมนุม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ได้แจ้งขอเลื่อนการพบพนักงานสอบสวนออกไปเป็นวันที่ 16 ก.พ. เนื่องจากนายอานนท์ นำภา ทนายความของตน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีเดียวกันนี้ ติดภารกิจว่าความในต่างจังหวัด
แม้ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมทางการเมือง แต่นายรังสิมันต์ยืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 10 ก.พ. ต่อไป หากไม่ได้รับคำตอบจาก คสช. ใน 4 เงื่อนไขที่ตั้งไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค.
ขณะที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า START UP PEOPLE และประชาธิปไตยศึกษา 1 ใน 7 แกนนำจัดการชุมนุม ได้แจ้งขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาเช่นกัน โดยอ้างว่าติดธุระส่วนตัว มีเพียง น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของนายสิรวิชญ์ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีเดียวกับบุตรชาย (เฉพาะข้อหาผิด พ.ร.บ. ชุมนุมฯ) เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา โดยยอมรับว่ากังวลกับกรณีบุตรชาย หลังก่อนหน้านี้ตำรวจ สน.ปทุมวัน ได้ทำหนังสือถึงศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อแจ้งให้ทราบว่านายสิรวิชญ์กระทำการขัดเงื่อนไขศาล หลังถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ในคดีละเมิดอำนาจศาล
ส่วนนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) แจ้งขอเลื่อนนัดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 3 ก.พ. เวลา 13.30 น. โดยจะเดินทางมาพร้อมนายสมบัติ บุญงามอนงค์ พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องการออกหมายเรียกในระยะเวลากระชั้นชิดเพียง 3 วัน
การดำเนินคดีกับนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนทั้ง 39 คน ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อาทิ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลใจต่อการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้
ล่าสุด ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีอาญาโดยทันทีต่อนักเคลื่อนไหว 39 คน
"การดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวที่ประท้วงต่อต้านระบอบปกครองของทหารอย่างสงบโดยรัฐบาลทหารไทย แสดงให้เห็นว่าไม่มีความจริงใจที่จะผ่อนคลายการปราบปรามทางการเมือง" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว และชี้ว่า ยิ่งมีการดำเนินคดีโดยพลการต่อผู้ที่เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย
อ่านต้นฉบับ: BBC Thai
EmoticonEmoticon