จาก นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา" สู่ "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ฉายาที่ได้รับจากสื่อมวลชนและศัตรูทางการเมือง ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี สะท้อนห้วงชีวิต 97 ปีของการ "กำจัดคนพาล" และ" อภิบาลคนดี" ของอดีตทหารม้าลูกพัสดีเรือนจำจากสงขลา
"ได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว" คือส่วนหนึ่งของกระแสพระราชดำรัสที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานแก่ ประธานองคมนตรี และองคมนตรีแต่งตั้งใหม่ 10 คน ที่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อ 7 ธันวาคม 2559
ตลอดชีวิตการ "รับใช้ชาติ" ของ พล.อ.เปรม สถาบันพระมหากษัตริย์ คือ สิ่งที่เขาเทิดทูนและปกป้องมาตลอด เป็นแบบอย่างให้นายทหารรุ่นน้องหลายคนเอาเป็นแบบอย่าง เขาพูดอยู่เสมอถึงการ "ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน" และ ความ "จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์"
"เปรมาธิปไตย"
พล.อ.เปรม นายกฯที่มาจากการแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งเกือบ 8 ½ ปี คือ บุคคลตัวอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผู้มาจากการรัฐประหารมักกล่าวยกย่องว่าเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตและการทำงาน นักวิจารณ์การเมืองหลายคน มองว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" สมัยรัฐบาลเปรม ในทศวรรษ 1980 ซึ่งนายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้งสั่งการนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง คือแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประสงค์ใช้สร้างอนาคตประเทศไทยใน ศตวรรษที่ 21 ดังที่สื่อไทยหลายสำนักเรียกว่าระบอบ "เปรมาธิปไตย"
"ผมไม่ได้เกลียดเขานะ แต่เขาไม่เหมาะ" 'พฤหัส อัสดง' คอลัมนิสต์ของ มติชนสุดสัปดาห์ อ้างไว้ในบทความหนึ่งว่า เป็นประโยคที่ พล.อ. เปรม นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 กล่าวกับอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่บ้านสี่เสา เทเวศร์ ถึง นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ก่อนหน้าการรัฐประหารโค่นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ไม่กี่เดือน
หลังรัฐประหาร 2549 ตามมาด้วย พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ก็ประกาศรับรองความเป็นคนดีของอดีตผู้บัญชาการทหารบก และองคมนตรี ว่า "เป็นบุคคลที่ดีที่สุดแล้ว"
จนกระทั่งเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค. 2557 พล.อ.เปรมก็ได้กล่าวยกย่อง พล.อ.ประยุทธ์ ขณะนำคณะรัฐมนตรีมาอวยพรปีใหม่เมื่อปลายปี 2557 ว่า "ในวันที่ 22 พฤษภาคม ถือเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ เป็นการตอบแทนบุญคุณชาติบ้านเมือง แสดงความจงรักภักดีที่ยิ่งใหญ่มาก คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่เขาจะเห็นด้วย และพอใจ ภูมิใจในการกระทำของนายกฯ ลุงตู่"
วันคล้ายวันเกิดปีที่ 97
วันคล้ายวันเกิดปีที่ 97
การยกคณะอวยพร โดยนายกฯ และคณะรัฐมนตรีพร้อมขุนทหารสามเหล่าทัพจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 24 ส.ค. นี้ สองวันก่อนวันวันคล้ายวันเกิดปีที่ 97 ที่บ้านสี่เสา ซึ่งต่างจากในอดีตที่การยกขบวนอวยพรมีขึ้น 1 วัน ก่อนวันคล้ายวันเกิด ในเรื่องนี้ พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานประธานองมนตรีและรัฐบุรุษ ปฏิเสธว่า การจัดการวันดังกล่าวไม่ใช่เพื่อเลี่ยงวันที่ตรงกับวันตัดสินคดีโครงการจำนำข้าว ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ทหารม้าวัยใกล้ศตวรรษผู้นี้ ผ่านมาทั้งการร่วมในคณะรัฐประหาร 2 ครั้ง การถูกลูกน้องเก่าพยายามโค่นรัฐบาลของเขาด้วยกำลังทหารถึง 2 ครั้ง ปัจจุบัน เขาคือ ประธานองคมนตรี 2 รัชกาล และอดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ทว่า หากฐานะครอบครัวของเขาในวัยเด็กดีกว่าที่เป็น ประเทศไทยอาจได้นายแพทย์ที่ชื่อเปรม ติณสูลานนท์ แทนก็ได้
ทหารม้าวัยใกล้ศตวรรษผู้นี้ ผ่านมาทั้งการร่วมในคณะรัฐประหาร 2 ครั้ง การถูกลูกน้องเก่าพยายามโค่นรัฐบาลของเขาด้วยกำลังทหารถึง 2 ครั้ง ปัจจุบัน เขาคือ ประธานองคมนตรี 2 รัชกาล และอดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ทว่า หากฐานะครอบครัวของเขาในวัยเด็กดีกว่าที่เป็น ประเทศไทยอาจได้นายแพทย์ที่ชื่อเปรม ติณสูลานนท์ แทนก็ได้
สามจุดเปลี่ยนในสามช่วงชีวิต
จุดเปลี่ยนในวัยเด็ก: ด.ช.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 ที่ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เขาเป็นบุตรคนที่ 6 จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน จากครอบครัวพัสดีเรือนจำจังหวัดสงขลา ด้วยฐานะที่ไม่สู้ดีของครอบครัว นายเปรมเปลี่ยนความฝันในวันเด็กที่ต้องการเป็นหมอไปสอบเข้าโรงเรียนเทคนิคทหารบก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน) ที่ใช้เงินน้อยกว่าแทน
เมื่อแตกเนื้อหนุ่ม เขาตั้งใจอยากจะเป็นทหารปืนใหญ่ เช่นเดียวกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ขณะนั้น แต่ระหว่างเรียนชั้นปีที่ 3 สงครามอินโดจีนรวมถึงสงครามโลกครั้งที่สองก็อุบัติขึ้น ทำให้เขาต้องกลายไปเป็น "ทหารม้า" ที่กำลังขาดแคลน และเติบโตบนเส้นทางทหารม้าตลอดมา
เมื่อแตกเนื้อหนุ่ม เขาตั้งใจอยากจะเป็นทหารปืนใหญ่ เช่นเดียวกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ขณะนั้น แต่ระหว่างเรียนชั้นปีที่ 3 สงครามอินโดจีนรวมถึงสงครามโลกครั้งที่สองก็อุบัติขึ้น ทำให้เขาต้องกลายไปเป็น "ทหารม้า" ที่กำลังขาดแคลน และเติบโตบนเส้นทางทหารม้าตลอดมา
คำเรียกขานว่า "ป๋าเปรม" ก็เกิดขึ้นระหว่างเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี ถึง 5 ปี จากธรรมเนียมการดูแลลูกน้อง แบบพ่อม้า-ลูกม้า
จุดเปลี่ยนในวัยทำงาน: ชีวิตการทำงานของเขาเติบโตขึ้นตามลำดับ กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก วันหนึ่ง หลังการรัฐประหารในปี 2520 เขาก็ถูก "พี่เกรียง" พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี เรียกไปพบและบอกว่าจะแต่งตั้งให้เป็น รมช.มหาดไทย ก่อนที่ปีถัดมา เขาจะก้าวขึ้นไปเป็น ผบ.ทบ. และในปี 2523 เขาก็ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในทางการเมือง บนเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี และได้เป็นติดต่อกันถึง 3 สมัย ทั้งที่ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
26 ส.ค. 2463
เกิดที่ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา
- รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล "ติณสูลานนท์" ส่วนชื่อ "เปรม" อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งให้
- อายุ 18 ปี เริ่มรับราชการทหาร
- เป็นทหารนาน 43 ปี ริเริ่มธรรมเนียมการอำลาตำแหน่ง ผบ.ทบ. ที่โรงเรียนนายร้อย จปร. "เพราะถือว่าเราเกิดที่นั่น ก็ควรจะไปจากกันที่นั่น"
- นายกฯ คนที่ 16 พล.อ. เปรม เคยทำนายว่า พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ จะได้เป็นนายกฯ แต่ตัวเองกลับได้เป็นก่อน ส่วนพล.อ. ชาติชาย ได้เป็นนายกฯ คนที่ 17
GETTY IMAGES
"นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา"
ตลอดการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี 5 เดือน เขามีผลงานโบว์แดงหลายชิ้น
ในเรื่องเศรษฐกิจ ประเทศไทยพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเลขสองหลักหลายปีต่อเนื่อง
ในเรื่องการเมือง ระหว่างปี 2523 - 2524 พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งสำคัญพร้อมกัน 3 ตำแหน่ง นายกฯ - รมว.กลาโหม - ผบ.ทบ. ซึ่งช่วยให้รัฐบาลของเขาสามารถยุติความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่นำไปสู่การฆ่ากันเองของคนไทย เขาออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 แปรศัตรูเป็นมิตร ชักนำ "ผู้หลงผิด" ให้เข้ามาเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย"
ในทางกลับกัน "ลูกป๋า" หลายคนก็แปรเปลี่ยนเป็นศัตรูเช่นกัน เมื่ออุดมการณ์ ความคิด หรือผลประโยชน์แตกต่างกัน
กลุ่มนายทหารหนุ่มที่จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 7 ที่เรียกตัวเองว่า "ยังเติร์ก" ผู้เคยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ "ป๋าเปรม" ขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ ทั้งที่เจ้าตัวปฏิเสธว่า "ไม่อยากเป็น" "ไม่พร้อมที่จะเป็น" แต่ในเวลาถัดมา สองฝ่ายกลับต้องมาต่อสู้กันในศึกชิงอำนาจที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของผู้ก่อการ กลายเป็น "กบฎเมษาฮาวาย" ในปี 2524 และ "กบฎ 9 กันยาฯ" ในปี 2528
กระทั่งนายทหารคู่ใจอย่าง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเคยเป็นทั้งผู้เสนอให้มีการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรมในปี 2523 และช่วยปราบกบฎเมษาฮาวายในปีถัดมา ก็ยังถูกปลดออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. หลังออกมาวิจารณ์นโยบายลดค่าเงินบาทในปี 2529
ฉายา "นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา" ที่ได้จากสื่อมวลชนขณะนั้น ดูะสะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างที่ พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งนายกฯได้มากกว่าอีกฉายาจากสื่อมวลชน คือ "เตมีย์ใบ้" ที่มาจากความเป็นคนพูดน้อย
ทหารกับประชาธิปไตยไทย
85 ปี
อายุประชาธิปไตยไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475
- 13 ครั้ง ทหารยึดอำนาจ
- 60% เป็นรัฐบาลทหาร
- 40% เป็นรัฐบาลพลเรือน
- นายกฯ 11 คน จากทั้งหมด 29 คน จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างนายกฯ มากที่สุด
The Nation
"ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"
หลังอยู่ในอำนาจถึง 8 ปี ความเบื่อหน่ายจากสื่อมวลชนและปัญญาชนเริ่มมีมากขึ้น นักวิชาการ 99 คน เข้าชื่อถวายฎีกา คัดค้านไม่ให้เป็นนายกฯสมัยที่สี่ นำไปสู่การตัดสินใจประกาศว่า "ผมพอแล้ว" ต่อสาธารณชนในปี 2531
ทว่า เพียง 1 เดือนหลังวางมือทางการเมือง เขาก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษ และองคมนตรี และเป็นประธานองคมนตรีในอีก 10 ปีต่อมา เพื่อทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท
แม้ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทว่าคุณูปการที่ทำให้กับประเทศชาติ รวมถึงเครือข่าย "ลูกป๋า" และ บารมีที่สั่งสมมา ทำให้นายกฯ รุ่นหลังหลายคนตัดสินใจเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ซึ่ง พล.อ.เปรมใช้พักอาศัยมาตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. เพื่อปรึกษาข้อราชการ รวมถึงการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร หรือที่เรียกกันว่า "โผทหาร" แต่ธรรมเนียมดังกล่าวก็เปลี่ยนไป ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ เมื่อปี 2544
ยิ่งนานวัน นายทักษิณ ปฏิบัติต่อ "คนในบ้านสี่เสา" ต่างจากนักการเมืองในอดีต ด้วยความเชื่อมั่นในคะแนนเสียงท่วมท้นจากผลการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้ง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่หลุดพ้นสายตาสื่อมวลชน ท่ามกลางการปฏิเสธอย่างแข็งขันของบรรดาผู้ใกล้ชิด พล.อ.เปรม
มาจนถึงปลายสมัยรัฐบาล นายทักษิณกล่าวถึง "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมขับไล่รัฐบาล เมื่อ 2549 ต่อมาไม่นาน พล.อ.เปรมแต่งชุดทหารเต็มยศไปกล่าวบรรยายพิเศษที่โรงเรียนนายร้อย จปร. เรื่อง "จ็อกกี้กับม้า" ในเดือนกรกฎาคม
"รัฐบาลก็เหมือนกับจ็อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับรัฐบาลเข้ามาดูแล แต่กำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา" พล.อ.เปรมกล่าวกับนักเรียนนายร้อย 950 คน จาก 4 ชั้นปี
สามเดือนต่อมา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ก็ประกาศยึดอำนาจ ในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อน พ.ต.ท. ทักษิณ (ยศขณะนั้น) ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก
"ทหารแก่อย่างเราจะทำทุกอย่าง"
พล.อ.เปรม ปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 แต่ในหนังสือชื่อ อมตะแห่งป๋าเปรม ที่ น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารเขียน ได้กล่าวถึงบทบาทต่างๆ ของ พล.อ.เปรม ต่อการรัฐประหารครั้งนั้น โดยเฉพาะการแนะนำให้แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลูกป๋าคนสำคัญขึ้นมาเป็นนายกฯ ด้วยคำว่า "แอ้ด (พล.อ.สุรยุทธ์) ดีที่สุด"
หลังการยึดอำนาจในปี 2557 แม้ครั้งนื้ชื่อของเจ้าของบ้านสี่เสาฯ จะไม่ได้ถูกกล่าวถึงเช่น 8 ปีก่อน แต่นักวิชาการหลายคนก็มองว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือ "รัฐบาลเปรมภาคต่อ" และยังวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย โดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง คล้าย พล.อ.เปรม ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นให้ "เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย" โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกให้คนนอกมาเป็นนายกฯ และ ส.ว.แต่งตั้งมีอำนาจเทียบเท่า ส.ส.เลือกตั้ง
พล.อ.เปรมเคยกล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งนำคณะรัฐมนตรีเข้าอวยพรวันเกิด เมื่อปีก่อน ว่า แม้อายุมากแล้ว แต่เขาจะช่วยนายกฯ เท่าที่จะช่วยได้
"ขอให้ตู่มั่นใจว่าทหารแก่อย่างเราจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ตู่สามารถทำงานบรรลุภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของชาติ ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำต่อไปจนกว่าจะได้ หากมีอุปสรรคก็ต้องแก้ไข"
เขากล่าวด้วยว่า เข้าใจถึงความ"จำเป็น" ในการเข้ามาในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่เราทำเพื่อคนไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์
"นี่เป็นโอกาสที่ดี ซึ่งไม่ใช่ของตู่หรือของใคร แต่เป็นของคนไทยทุกคน ที่จะทำให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นมาในชาติบ้านเมืองให้ได้ ..ขอให้ตู่สบายใจ พวกเราจะเชียร์และเป็นกำลังใจ จะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ตู่นำความผาสุกมาสู่ประชาชนคนไทย"
ที่มา: BBC Thai
ที่มา: BBC Thai
EmoticonEmoticon