สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เรียกร้องดีเอสไอ คืนทรัพย์แก่สมาชิก สงสัย อายัดด้วยเหตุใด ทั้งที่ศาลแพ่ง พิพากษาและชี้ชัดว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่อยู่ในรายการของกลางคดี
สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวมตัวที่หน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ คืนทรัพย์ที่อายัดไว้แก่สมาชิกสหกรณ์โดยเร่งด่วน โดยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชดใช้เงินกว่า 3,800 ล้านบาทแก่สมาชิก ซึ่งหากนับแต่มีคำพิพากษาจากศาลแพ่งได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 โดยให้จำเลยคือนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่สหกรณ์และก็ตาม แต่จนถึงขณะนี้สมาชิกสหกรณ์ยังไม่ได้รับทรัพย์คืน ทั้งที่เงินดังกล่าวไม่อยู่ในรายการบัญชีทรัพย์สินของกลางแต่ประการใด จึงไม่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน โดยสมาชิกที่ร่วมกันลงนามจำนวน 2,020 คน เห็นตรงกันว่าดีเอสไอ ควรคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่สหกรณ์โดยเร็วเพื่อให้สหกรณ์นำไปจำหน่ายและนำเงินมาเยียวยาสมาชิกทุกรายที่มีจำนวนหลายหมื่นคนซึ่งรอการเยียวยาอยู่
ด้านนายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ เดินทางมาสังเกตการณ์ กรณีที่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เดินทาง มาทวงถามความคืบหน้าต่อดีเอสไอว่าจะยอมดำเนินการถอนอายัดทรัพย์สินเพื่อให้สหกรณ์คลองจั่นฯ สามารถดำเนินการ เกี่ยวกับทรัพย์สินต่อไปได้หรือไม่
เพราะในทางกฎหมายสหกรณ์และกรรมการ รวมถึง ผู้บริหาร ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว แต่ยังติดขัดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษนำเอาเรื่องเดียวที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์คลองจั่นฯ ไปตั้งสำนวนคดีอาญาหลายสำนวน ทั้งคดีฉ้อโกงประชาชน คดีการฟอกเงิน คดีลักทรัพย์ คดีปลอมแปลงเอกสาร คดีใช้เอกสารปลอมรวมไม่ต่ำกว่า 13 ถึง 14 คดี ทั้งที่สามารถรวมเป็นสำนวนคดีเดียวได้ จากประเด็นดังกล่าว จึงต้องตั้งคำถามกลับไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษว่ามีเจตนาอย่างไรแน่
นายวันชัย ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ช่วงเดือนกันยายน ปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อหาต่อนายศุภชัยกับพวก ซึ่งเป็นเวลาเดียวกัน ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ได้เดินหน้าอายัดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน
ซึ่งหลายฝ่ายรวมถึงฝ่ายของนายศุภชัยและพวกพร้อมทนาย ก็ออกมาโต้แย้งและคัดค้านต่อ ปปง.ว่าหาก ปปง.ดำเนินการเพื่อให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายฟอกเงิน สหกรณ์และสมาชิกก็จะไม่ได้อะไรและไม่ใช่การแก้ไขปัญหาให้แก่สมาชิกสหกรณ์
จนกระทั่ง ช่วงเดือนกันยายน 2556 ปปง. ยอมหยุดเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและเปิดช่องให้สหกรณ์คลองจั่นสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายอื่นอันหมายถึงสามารถฟ้องคดีแพ่งกับนายศุภชัยและพวกรวมถึงขอให้ศาลคดีแพ่งสั่งอายัดทรัพย์ดังกล่าวเพื่อเป็นการคุ้มครองชั่วคราว
ระหว่างปลายกันยายน 2556 สหกรณ์ยังไม่ได้ฟ้องคดีแพ่ง ส่วน ปปง.ก็จำเป็นต้องส่งทรัพย์สินที่อายัดไว้ให้ดีเอสไอ ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อตรวจสอบมูลทรัพย์สินในส่วนที่ ปปง.ประเมินและส่งมาที่ดีเอสไออายัดเอาไว้นั้น ประมาณ 3,000 กว่าล้าน ไม่ยึดเป็นของกลางในคดี
โดยในช่วงปี 2557 ถึงปี 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเอาเรื่องเดียวกันคือสหกรณ์คลองจั่น ตั้งสำนวนคดีอาญาหลายสำนวนและฟ้องแยกเป็นสำนวนคดีต่างๆกว่า 10 สำนวน อีกทั้ง ยังมีความพยายามส่งทรัพย์สินกลับไปที่ ปปง.อีกรอบหนึ่งทั้งที่เมื่อปลายกันยายน 2556 ปปง.เห็นควรให้สหกรณ์ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่น
อย่างไรก็ตาม ทนายของนายศุภชัยเห็นว่า คดีของนายศุภชัยจะถูกจำคุกกี่ปีหรือดีเอสไอจะตั้งเรื่องดำเนินการนายศุภชัยก็ต้องต่อสู้คดีไม่เกี่ยวข้องหรือส่งเสริมเรื่องของการฟื้นฟู ดังนั้น ถึงเวลานี้ไม่มีเม็ดเงินมาจากภาครัฐอย่างชัดเจน สหกรณ์และสมาชิกคงต้องทำใจและคงไม่มีเงินจากภาครัฐ
ทั้งหมด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมาชิกสหกรณ์ไม่เข้าใจและตั้งข้อสงสัยต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า เหตุใดจึงไม่ยอมถอนอายัดตามมาตรา 24 เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์เหล่านั้นได้
EmoticonEmoticon