วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560

2475/2560 เป็น "เลขคดี" ที่ทายาทคณะราษฎร ตกเป็นนักโทษข้อหา 112


เอกฤทธิ์ เป็นนักโทษที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกจากการโพสต์รูปภาพพร้อมข้อความประกอบพระบรมฉายาลักษณ์บนเฟซบุ๊ก อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
ในวันที่ถูกจับกุม เขาอยู่ที่หอพักคนเดียว เมื่อถูกจับกุมแล้วเขาไม่ได้รับอนุญาตให้โทรศัพท์ติดต่อใคร เขาถูกพาตัวเข้าค่ายทหารอย่างเงียบๆ ถูกส่งเข้าเรือนจำอย่างเงียบๆ และในวันที่เขาถูกพาไปศาลก็ไปตัวคนเดียว ไม่มีใครคอยช่วยเหลือหรือให้กำลังใจ จนกระทั่งเขาตัดสินใจรับสารภาพและศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 8 ปี ลดเหลือ 4 ปี คดีของเขาก็ยังอยู่อย่างเงียบๆ มีคนรู้กันเพียงไม่กี่คน
 
ตรงกันข้ามกับความตั้งใจของเขา ที่อยากจะให้คดีของเขาเป็นที่รับรู้ เป็นบทเรียนแก่สังคมและเป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายที่ตัวเขาเองไม่ยอมรับ
 
เรื่องราวของเอกฤทธิ์ยังน่าสนใจยิ่งขึ้นอีก เมื่อตัวเขาสืบเชื้อสายโดยตรงมาจาก "หลวงเสรีเริงฤทธิ์" หรือ จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ผู้ซึ่งมีส่วนปลูกฝังความคิดเห็นทางการเมือง และความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมของคน ถ่ายทอดมาอยู่ในตัวของคนรุ่นหลาน ซึ่งต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำในปี 2560
 
เรามีเวลาสั้นๆ ได้คุยกับเขาในวันหนึ่ง หลังฟังคำพิพากษาของศาลเสร็จแล้ว
 
ถาม: เหตุการณ์วันที่ถูกจับ เป็นยังไง?
เอกฤทธิ์: ประมาณวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ตอนเช้า ฟ้ายังไม่สว่าง รปภ.ของหอพักมาเคาะประตูเรียกว่าจะเอาพัสดุมาส่งและต้องเซ็นต์รับ เราก็สงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมต้องมาเช้าขนาดนี้ เลยไม่เปิด อีก 10 นาที มีคนมาเคาะใหม่ แจ้งว่า มาจาก คสช. เขาบอกว่า ถ้าไม่เปิดประตูจะพัง ผมก็เปิด เขากรูกันเข้ามาเปิดคอมพิวเตอร์ของผมแล้วก็ยึดไปพร้อมกับเอกสารสารพัด เขาไม่ได้บอกว่า มาทำไม แต่ถามว่า รู้ใช่ไหม ผมก็ตอบว่า รู้
 
ถาม: พอถูกแล้วเขาพาไปไหน?

เอกฤทธิ์: ตอนแรกพาไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.บางกอกใหญ่ ก่อน แล้วก็พาเข้าไป มทบ.11
 
ถาม: อยู่ที่ มทบ.11 กี่วัน และความเป็นอยู่เป็นยังไง?

เอกฤทธิ์: น่าจะอยู่ประมาณ 5 คืน มีทหารมาสอบสวน 3 วัน รวม 3 รอบ และมีตำรวจมาสอบสวนอีกรอบหนึ่ง ความเป็นอยู่ถือว่าดี อยากได้อะไรก็บอกเขาได้ ปกติมีกับข้าวให้กิน 3 มื้อ เมื่อเอามาให้แล้วต้องทำท่ากินแล้วถ่ายรูปทุกครั้งไม่ว่าจะอยากกินหรือไม่ก็ตาม เคยขอให้ซื้อบุหรี่และโจ๊กให้ ทหารก็หาซื้อมาให้ ระหว่างอยู่ในนั้นไม่ได้เจอกับใครเลยนอกจากพลทหาร 4 คนที่จัดให้มาเฝ้า และจ่าที่มาดูแลพลทหารอีกที 
 
ห้องพักที่ให้อยู่เหมือนเป็นห้องพักแขก มีแอร์ มีห้องน้ำในตัว แต่มีอยู่วันหนึ่งที่ทหารมีงานจัดเลี้ยง เลยต้องถูกย้ายให้ไปพักที่อื่น มีแค่ที่นอนกับมีฉากกั้น ระหว่างอยู่ที่นั่นได้ขอติดต่อกับน้องเพื่อให้เอาเสื้อผ้ามาให้ แต่ทหารไม่ยอม อยู่ในนั้นเขามีชุดให้ใส่เลย เป็นกางเกงขาสั้น เสื้อสีน้ำเงิน 
 
ถาม: ตอนถูกพาตัวไปฝากขัง ทำไมไม่ยื่นขอประกันตัว?
เอกฤทธิ์: ทรัพย์สินก็พอจะมี แต่ไม่เคยคิดจะขอประกันตัว เพราะรู้ว่า ยังไงก็คงประกันไม่ได้
 
ถาม: ตอนถูกพาตัวไปศาล รู้สึกอย่างไร?
เอกฤทธิ์: โดดเดี่ยวนะ เหงามาก ไปคนเดียวไม่มีใครไปด้วยเลย พออ่านคำฟ้องแล้วเห็นว่า ถ้าสู้ไปก็คงไม่มีประโยชน์อะไรก็เลยรับสารภาพเลย เพราะเคยเห็นหลายคนที่ติดคุกอยู่เป็นปี เจอกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมมากๆ ก่อนหน้านี้เคยคิดลังเลอยู่ว่า ถ้าการต่อสู้คดีจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้สุดท้ายจะแพ้คดี ก็จะต่อสู้แน่ๆ แต่เท่าที่เห็นคดีอื่นมา ก็ยังไม่แน่ใจว่า การต่อสู้จะเป็นประโยชน์จริงหรือเปล่า

ถาม: ทำไมถึงไม่มีญาติ หรือครอบครัวไปศาลเป็นเพื่อนด้วย?
เอกฤทธิ์: ผมกับภรรยาเลิกกันแล้ว เลิกกันได้ไม่นาน มีลูกชายคนเดียว ลูกชายก็ไปอยู่กับแม่ ผมบอกญาติทุกคนว่าไม่ต้องมาเยี่ยมเลย เพราะเคยเห็นคนอื่นที่มีทหารตามไปคุกคามญาติพี่น้องต่อ ก็ไม่อยากให้ใครต้องไปยุ่งกับเขา จริงๆ การที่ผมต้องเลิกกับภรรยาก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองทำได้ และตอนนี้ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว
 
ถาม: ตอนที่ศาลตัดสินให้จำคุก 8 ปี รู้สึกอย่างไร?
เอกฤทธิ์: มึนเหมือนกัน เพราะตอนแรกหวังว่า จะได้รับโทษ 5 ปี ความรู้สึกที่แท้จริง คือ ผมไม่ได้ไปฆ่าใคร ไม่ได้ไปปล้นชิงทรัพย์ใคร ผมสารภาพไปแล้วว่า ผมทำจริง แต่จะให้ยอมรับกฎหมายนี้ผมไม่ยอมรับ ศาลก็ไม่ได้ให้คำพิพากษามาอ่านด้วย ให้มาแต่สำเนาคำฟ้อง

ถาม: ขอดูสำเนาคำฟ้องหน่อยได้ไหม?
เอกฤทธิ์: ให้ทนายไปแล้ว ทนายเห็นแล้วยังบอกว่า เลขสวย
 
ถาม: เลขอะไร?
เอกฤทธิ์: เลขคดี 2475/2560

ถาม: เคยได้ยินว่า มีความสัมพันธ์กับคณะราษฎรที่ปฏิวัติในปี 2475 เป็นอย่างไรบ้าง?
เอกฤทธิ์: ผมเป็นหลานของคณะราษฎร คือ หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ท่านเป็นปู่ของผม ปู่มีภรรยาสองคน ภรรยาแต่ละคนมีลูก 4 คน พ่อของผมเป็นลูกของภรรยาคนแรก ผมอยู่กับท่านใกล้ชิดกันจนถึงอายุ 14-15 ก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้รับความคิดจากท่านมาบ้าง ท่านสอนเรื่องความเท่าเทียม สอนว่าอย่าดูถูกคนจน แต่ท่านก็ยังห้ามไม่ให้ยุ่งการเมือง เพราะเห็นว่า การเมืองมันสกปรก 
แต่ขอย้ำนะ ว่าการแสดงออกทางการเมืองของผมไม่เกี่ยวกับครอบครัว เป็นเรื่องส่วนตัว บางคนในครอบครัวที่ไปอีกสายนึงตรงข้ามไปเลยก็มี 
 
ถาม: แล้วทำไมถึงชอบแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊ก?
เอกฤทธิ์: ผมต้องการให้ประเทศของเราเจริญเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนาแล้ว จนผมอายุ 53 แล้ว ก็ยังเห็นประเทศเราพัฒนาอยู่เท่าเดิม เฟซบุ๊กของเราก็เน้นเนื้อหาสาระ อยากส่งเสริมให้คนมีความรู้ ให้คิด อย่าหลงเชื่อข้อมูลกระแสหลักที่ไม่เป็นความจริง 
 
ตอนที่ผมเคยไปอยู่ต่างประเทศ ได้เห็นสังคมที่เท่าเทียมกว่า บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน คนจนหาได้ยาก คนส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นคนชั้นกลางที่มีบ้าน มีรถ มีงานทำ และมีสวัสดิการสังคม ทั้งที่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติมากขนาดนี้ จึงสงสัยว่าทำไมจะเป็นอย่างเขาไม่ได้ หลังกลับมาอยู่ประเทศไทยก็เริ่มศึกษาเอง เพราะชอบศึกษาประวัติศาสตร์ สมัยก่อนความรู้หายาก แต่สมัยนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ความรู้หาง่าย และปิดยังไงก็ปิดไม่ได้ 
 
ถาม: ศาลพิพากษาให้อยู่ในเรือนจำ 4 ปี จะอยู่ได้หรือไม่?
เอกฤทธิ์: การเข้าเรือนจำ ทุกวินาที คือ ความภูมิใจ คนที่เสียหายไม่ใช่ผม คนที่เสีย คือ คนที่ลงทัณฑ์ผม ก่อนผมเข้าเรือนจำก็ทำใจไว้แล้ว ตั้งแต่เล่นเฟซบุ๊กและค่อยๆ ยกระดับการแสดงความคิดเห็นผมก็ทำใจไว้แล้ว ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์อะไร แต่ด้วยสถานการณ์ที่มันน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ และมีคนเตือนมาก็เริ่มทำใจ
 
ถาม: อยู่ในเรือนจำ ไม่ลำบากเหรอ?
เอกฤทธิ์: ลำบากแน่ ที่หลับที่นอนไม่ค่อยสะดวก เรื่องน้ำดื่มก็เป็นปัญหามาก มีน้ำเย็นแต่ไม่เปิดให้กิน เรื่องที่ไม่เข้าใจที่สุด คือ ไม่ให้เอาหนังสือขึ้นไปอ่านบนเรือนนอน ทั้งที่ต้องอยู่บนนั้น 14 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีอะไรทำ มีแต่เปิดเพลงลูกทุ่ง เราอยากอ่านหนังสือวิชาการก็เอาขึ้นไปไม่ได้ เพราะได้ยินว่า เคยมีคนแอบเอายาเส้นใส่หนังสือขึ้นไป
 
ถาม: อยู่ในเรือนจำ ถูกบังคับให้ทำงานหรือเปล่า?
เอกฤทธิ์: ผมเรียนจบออกแบบภายในมา เขาเลยให้ไปทำงานเขียนแบบอยู่ที่กองงานเฟอร์นิเจอร์ แต่เอาจริงๆ ไปถึงแล้วก็ไม่มีงานเขียนแบบให้ทำ ก็เลยต้องทำอย่างอื่นเช่น ยกน้ำ กวาดพื้น เพื่อให้เรามีเพื่อนในกองงาน ทำอะไรได้ก็ต้องทำไปก่อน


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก