บรรยากาศงาน ฌาปนกิจ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
รู้จัก อ.ยิ้ม ให้มากขึ้น จาก.....
“ขอสดุดีสหายสมพร “ยิ้ม“เพื่อนรัก“
ขอแสดงความไว้อาลัย การจากไปของสหาย และเพื่อน ที่เคยร่วมรบ อย่างแสนอาวรณ์
สหายสมพร เป็นสหายรุ่นพี่ที่ผมรู้จักหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เราพบกันในเขตงาน ปฏิวัติของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย บนเทือกเขาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2519
ภาพแรกที่ผมสัมผัสได้ คือความนุ่มนวลและความเอื้ออาทร ซึ่งเป็นท่วงทำนองเฉพาะตัวของสหายสมพร ใบหน้าจะเปื้อนรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผมมีความสุข ในเวลาที่พูดคุยกับสหาย แต่อีกมุมหนึ่ง ผมอดกังวล ไม่ได้ว่า สหายจะทนต่อความยากลำบาก ซึ่งจะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย จากสงครามประชาชนได้หรือไม่
แต่วันเวลาก็ได้พิสูจน์ ว่าสหายสมพรสามารถเรียนรู้และดัดแปลงตัวเอง ในการที่จะใช้ชีวิตเผชิญกับความยากลำบากได้อย่างดีเยี่ยม
พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในเขตหลัง ซึ่งเป็นที่ตั้ง ของศูนย์การนําในเขตงาน บี.3 (180) หลายครั้งสถานการณ์สงครามประชาชนรุนแรง เราต้องลงหลุมหลบภัย เพื่อ ปลอดภัยจากกระสุนปืนใหญ่ และหลายครั้ง เราต้องวิ่งหนีวิถีกระสุนที่ถูกกราดยิงจากฝูงบินปีศาจที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่เขตหลัง ชีวิตที่ผ่านการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ทำให้สหายทุกคนรักกัน ผูกโยงเป็นสายสัมพันธ์ ที่เหนียวแน่น ที่ไม่อาจมีใคร จะสามารถทำลาย ความรักและความผูกพัน เหล่านี้ได้
สหายสมพรจัดได้ว่าเป็นสหายแถวหน้า ที่ผ่านการหล่อหลอมและดัดแปลงตนเอง “ทุกข์อยู่หน้า สุขอยู่หลัง“ ส่งผลทำให้สหายในเมืองและสหายในชนบทจำนวนมาก ก็รักใคร่และเอ็นดูสหายสมพรเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายพวกเราออกจากป่า แต่ละคน ก็เลือกทางเดิน ตามสถานะอาชีพของตนเอง หลายคนกลับสู่รั้วมหาวิทยาลัย หลายคนเขัาสู่วงการธุรกิจ หลายคน เดินหน้าเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง ที่ตนเองใฝ่ฝัน...
ต่อมาในปี 2535 สถานการณ์ทางการเมืองเกิดการรัฐประหาร และเกิดการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในการต่อต้านรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการสุจินดา
ภายใต้สถานการณ์ ทางการเมือง ที่ตกอยู่ในบรรยากาศ เฉกเช่นอดีต ทำให้พวกเรา บรรดามิตรสหาย ได้กลับมารวมตัวและพบปะกันอีกครั้ง
พี่น้องจากเขตงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้แรงผลักดันของ มิตรสหาย สหายสมพรเป็นหนึ่งในผู้เอาการเอางาน ได้ก่อการเคลื่อนไหว เกิดการรวมตัว ก่อกำเนิดเป็นกลุ่มเพื่อนสุราษฎร์ ซึ่งมีหนังสือรายสะดวก “ไฟลามทุ่ง“ เป็นแก่นแกน ในการรวมศูนย์ ของสายงานต่างๆ ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี นับตั้งแต่นั้นมา
ภารกิจใจกลางของกลุ่มเพื่อนสุราษฎร์ ก็คือรวบรวมเพื่อนมิตร ในเขตงาน การต่อสู้ในชนบทไม่ว่าจะเป็นสหายในเมืองหรือสหายในชนบท สร้างเป็นเครือข่าย หนุนเสริมช่วยเหลือกัน
ในปี 2537 สหายในเมืองส่วนหนึ่ง ได้ลงไปร่วมกับสหายชนบท เพื่อขุดหา กระดูกของบรรดาสหายนักปฏิวัติ ที่เสียชีวิตท่ามกลางการต่อสู้ ตามเทือกเขาในเขตงาน ของพวกเรา เพื่อรวบรวม นำมาเก็บไว้ในอนุสรณ์สถาน ซึ่งพวกเราออกแบบ และเตรียมการก่อสร้าง จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2539 ภายใต้ชื่อว่า อนุสรณ์สถานบ้านช่องช้าง
หลังจากนั้นมา ณ ที่นี้ ก็คือศูนย์รวมจิตวิญญาณของบรรดามิตรสหายนักปฏิวัติ ซึ่งเราจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวีรกรรมของวีรชนนักปฎิวัติเรา ทุกปีในเดือนเมษายน
อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของสหายสมพร ในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ สหายสมพรได้เข้าร่วมกับพี่น้องสหายในเมืองในทุกเขตงานทั่วประเทศ ได้ร่วมกันผลักดันการจัดงานในวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา ในปีพศ 2539
ในครั้งนั้นเราต้องการสร้างที่ยินฐานะทางประวัติศาสตร์ และประกาศเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ของ ความเป็นคน 6 ตุลา ว่าวีรกรรมที่อาจหาญของเรานั้นไม่ใช่คนทำลายชาติ แต่เราเป็นบุคคลที่มีความมุ่งหวังเปลี่ยนแปลงสังคม พวกเราเสนอคำขวัญในงาน “กล้าต่อสู้ กล้าเอาชนะ เพื่อสังคมที่ดีงาม“
หลังจัดงาน 20 ปี 6 ตุลาคม สหายสมพรเป็นคนริเริ่มเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์ของคน 6 ตุลา จากการบอกเล่า ของเพื่อนมิตรสหายที่ยังมีลมหายใจ
นั่นคือผลงานที่ทรงคุณค่าของสหายที่ฝากไว้ให้กับประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ใครไม่อาจจะบิดเบือนได้
นั่นคือผลงานที่ทรงคุณค่าของสหายที่ฝากไว้ให้กับประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ใครไม่อาจจะบิดเบือนได้
จากความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการจัดงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา สหายสมพร เป็นผู้หนึ่ง ที่เห็นควรว่า คณะกรรมการประสานงานจัดงาน ควรจะต้อง ก่อรูปและรักษาองค์กรให้เป็นองค์กรจัดตั้งที่ถาวร เพื่อที่จะเป็นศูนย์รวม ในการดำรงรักษาอุดมการณ์และจิตวิญญาณของคนเดือนตุลา อีกทั้งยังต้องมีภารกิจ ในการสนับสนุน และส่งเสริม ให้องค์กรภาคประชาชน นักเรียนนิสิตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอยู่ มีความเข้มแข็งและสามารถนำพา และเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง
“เครือข่ายเดือนตุลา“ จึงก่อกำเนิดขึ้น เพื่อแบกรับภาระทางประวัติศาสตร์ ที่การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น นับตั้งแต่นั้นมา
อีกหนึ่งผลงาน สหายสมพร ได้ทุ่มเทเวลาส่วนตัว ในการรวบรวมบันทึกเรื่องราว จากความทรงจำของสหาย ในเขตงาน บี.3 (180) เพื่อบันทึกเรื่องราว วีรกรรมที่อาจหาญ ในทุกๆด้าน ผ่านตัวอักษร ที่สละสลวยสวยงาม และทรงไว้ซึ่งพลานุภาพ แห่งประวัติศาสตร์ของการทำสงครามปฏิวัติ ของนักรบในเขตงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในชื่อหนังสือ “น้ำป่า“
หลังจากนั้นช่วงสถานการณ์การเมืองแบ่งสี ผมและสหายสมพรอาจมีมุมมองความคิดที่ต่างกันในบางประเด็น ระยะและความสัมพันธ์เริ่มห่างขึ้น แต่ด้วยความเป็นเพื่อนมิตรสหาย หลายครั้ง ผมแอบถามเพื่อนมิตรที่ยังสื่อสัมพันธ์กันถึง ด้วยความรักและห่วงใย ในจิตใจ หวนคิดคำนึงเสมอว่า สักวันหนึ่ง หากเรา เสมือนหนึ่งเป็นแม่น้ำหลากสาย เราคงได้มีโอกาส มาไหลรวมกันอย่างแน่นอน
กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวผมไม่เคยตำหนิ การเคลื่อนไหว และเคารพความแตกต่างทางความคิดของสหายมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่า สหายไม่ได้รับใช้ใครและยังอยู่ภายใต้แนวทางที่ต้องการเห็นสังคมที่ดีงามอย่างแน่นอน
ถึงวันนี้สหายได้จากพวกเราไป เจตจํานงและจิตวิญญาณยังดำรงอยู่
ผมจะจดจำและรำลึกถึงวีรกรรมที่อาจหาญของสหาย และจักสืบทอดจิตใจปฏิวัติของสหายตลอดไป
รักและอาลัย
สหายสกล เขตงานต้าจ๋าย ค่าย180 (บี.3) สฏ.1
อมร อมรรัตนานนท์
27 กันยายน 2560
สหายสกล เขตงานต้าจ๋าย ค่าย180 (บี.3) สฏ.1
อมร อมรรัตนานนท์
27 กันยายน 2560
EmoticonEmoticon