วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ธปท.คุมเข้ม5แบงก์ใหญ่ ป้องกันเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ

ประกาศราชกิจจาฯ "ธปท."คุมเข้ม5แบงก์ใหญ่ ป้องกันเสียหายทางเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ฉบับ เรื่อง แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ และรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีความสามารถในการรองรับความเสียหายได้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่จะประสบปัญหาจนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งต้องดำรงเงินกองทุนในอัตราที่สูงขึ้นและต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่นที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
สำหรับรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ประจำปี 2560 ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลด้านเงินกองทุนและมาตรการกำกับดูแลอื่นให้เป็นตามหลักสากลมากขึ้น
ทั้งนี้ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 16/2560 เรื่อง แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ เหตุผลในการออกประกาศครั้งนี้ โดยการกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic systemically important banks: D-SIBs) มีความสามารถในการรองรับความเสียหายได้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และส่งผลกระทบ (Negative externalities) ต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินของประเทศมีเสถียรภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล
แนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามประกาศฉบับนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างอิงจาก A framework for dealing with domestic systemically important banks ของ Basel Committee on Banking Supervision ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ตามหลักเกณฑ์ Basel III
การกำหนดธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งต้องดำรงเงินกองทุนในอัตราที่สูงขึ้นและต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่นที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง
สำหรับรายละเอียดของหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งในประกาศ ตามข้อ 4.3.2 ระบุว่ามาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ โดย 4.3.2 (1) ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศดำรงเงินกองทุน ส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Higher loss absorbency) ดังนี้
ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common equity tier 1) เพิ่มเติมจากการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำ อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต (Conservation buffer) และอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical buffer) อีกร้อยละ 1 ของสินทรัพย์
เสี่ยงทั้งสิ้น เพื่อเป็นเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Higher loss absorbency)
ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ เป็นสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นเพิ่มเติมจากการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำ อัตราส่วนเงินกองทุน
ส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต (Conservation buffer) และอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical buffer) อีกร้อยละ 1 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น เพื่อเป็นเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Higher loss absorbency)
4.3.2 (2) ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถติดตามดูแลความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์มีระบบการควบคุมภายในที่ดีและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้
(2.1) การจัดส่งรายงานที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงภายในของธนาคารพาณิชย์ (Internal management report/Risk report)
ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ จัดส่งรายงานที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงเป็นการภายในของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการร้องขอ ภายในระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(2.2) การจัดให้มีวาระการประชุมของคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ (Board of directors) เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลการตรวจสอบที่สำคัญให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ จัดให้มีวาระการประชุมของคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลการตรวจสอบที่สำคัญต่อคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(2.3) การจัดส่งรายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ จัดส่งรายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานและการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจทางการเงินและชุดข้อมูลตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการส่งรายงานข้อมูลต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะที่ข้อ 4.3.3 ระบุว่า กรอบระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการประกาศว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อ ความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศในปี 2560 และปี 2561 ให้เริ่มดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามข้อ 4.3.2 (1) ที่ร้อยละ 0.5 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และดำรงเพิ่มเป็นร้อยละ 1 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
สำหรับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560 เรื่อง รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีรายชื่อดังต่อไปนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี 2560 ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ,ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ,ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
ทั้งนี้ การปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลด้านเงินกองทุนตามข้อ 4.3.2 (1) และมาตรการกำกับดูแลอื่นตามข้อ 4.3.2 (2) ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยแนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ
อนึ่ง ประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก