ธปท.ชี้แจงคุม 5 ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ตามมาตรฐานสากล เพื่อดูแลความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ ย้ำเงินฝากของประชาชนไม่ถูกกระทบ แต่จะยิ่งมั่นคงมากขึ้นตามเกณฑ์ใหม่
วันนี้ (26 ก.ย.60) นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบาย สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ธปท. เรื่องรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ปี 2560 (มาตรการ D-SIBs ) ที่มีแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ เพราะการประกาศดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นใจในการกำกับดูแลธนาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เหมือนกับ สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
“เกณฑ์ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ 5 ธนาคาร ต้องดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มจากอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีก 1% ภายในปี 2563 โดยให้ทยอยเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.5% ในปี 2562 และอีก 0.5% ในปี 2563 รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งการรายงานข้อมูลต่าง ๆ เช่น สินเชื่อ ออมทรัพย์ สภาพคล่อง ถี่มากขึ้นเป็นรายเดือน เพื่อช่วย ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบทุกแห่งมีความแข็งแกร่ง เงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราที่ ธปท.กำหนดมาก และเพียงพอรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเติมตามมาตรการดังกล่าว” นางฤชุกร กล่าว
สำหรับมาตรการ D-SIBs ช่วยให้ระบบมีความสามารถในการรองรับความเสียหายจากการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ซึ่งการกำหนดธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ ธปท.พิจารณา 4 ปัจจัย ได้แก่ ขนาดของสถาบันการเงิน, ความเชื่อมโยงในการทำธุรกรรมระหว่างกัน, การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญหรือการเป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน และความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือกระบวนการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากลที่ผู้กำกับดูแลในต่างประเทศใช้
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม กรรมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เงินฝากของประชาชนไม่ถูกกระทบ แต่จะยิ่งมั่นคงมากขึ้นตามเกณฑ์ของมาตรการ D-SIBs เพราะเป็นการยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินโดยรวม เนื่องจากธนาคารขนาดใหญ่มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและระบบการเงิน ทางการจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ เพื่อดูแลความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ
“การกำหนดเกณฑ์ที่สูงขึ้น สำหรับธนาคารขนาดใหญ่เป็นเรื่องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งต่างประเทศได้ประกาศและปฏิบัติมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยปัจจุบันธนาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งมีระดับเงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำลังจะประกาศเพิ่ม ปัจจุบันทั้ง 5 ธนาคารมีความในด้านการสำรองเงินกองทุนสูงกว่าที่ธปท.กำหนดอยู่แล้วเฉลี่ยร้อยละ 14-15 จึงไม่จำเป็นจะต้องสำรองเพิ่มขึ้นอีกได้ ดังนั้น ภาระต้นทุนของธนาคารจะไม่เพิ่มขึ้นและยืนยันว่า จะไม่มีผลกระทบต่อธนาคารขนาดเล็กต่อความมั่นใจผู้ฝากเงิน เพราะธปท.ใช้มาตรฐานสากลนี้กับทุกสถาบันการเงินทุกแห่ง ซึ่งต้องสำรองเงินกองทุนในระดับเดิมร้อยละ 6.5” นายสมบูรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์เงินฝาก ธปท.ระบุว่า ยังไม่พบการโยกย้ายเงินฝากของประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งธปท.จะติดตามการฝากถอนเงินของประชาชนอย่างใกล้ชิด หลังจากประกาศเพิ่มเงินกองทุนแล้ว
EmoticonEmoticon