วันจันทร์ ที่ 25 กันยายน 2560 เวลา 20:00 น.
โดยisranews
.
"...จากการตรวจสอบของกรรมการและสมาชิกกลุ่มฯ ซึ่งมีประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับเครื่องพ่นยาอยู่บ้าง พบว่า เป็นเครื่องที่ประกอบขึ้นเอง โดยใช้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผลิตจากประเทศจีน เป็นชิ้นส่วนที่ไม่มีคุณภาพ และเครื่องบางตัวยังประกอบไม่เรียบร้อย มีชิ้นส่วนอะไหล่ไม่ครบ ไม่สามารถใช้งานได้ จากการประเมิณราคาเครื่องโดยเทียบกับราคาร้านจำหน่ายใน อ.ลาดบัวหลวง ทำให้ทราบว่าเครื่องพ่นยาดังกล่าว มีราคาขายในท้องตลาดประมาณ 2,700-3,000 บาทเท่านั้น.."
โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ถูกร้องเรียนว่า มีการเปิดให้ผู้รับเหมามาประมูลงานวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำปุ๋ย และจัดหาให้กลุ่มชาวบ้าน โดยอ้างว่าปุ๋ยของชาวบ้านไม่พอ ทำให้ต้องซื้อจากพ่อค้า ทั้งที่ กลุ่มยังไม่มีการประชุมวางแผน หรือรับสมัครคนทำงาน
ขณะที่โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ของ ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ปรากฎข้อมูลร้องเรียนว่า มีการเปิดให้เอกชนมาประมูลงานจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ โดยผู้รับเหมาในโครงการกำหนดราคาซื้อขายวัสดุสูงเกินความเป็นจริง
ปรากฎพฤติการณ์ว่า ชุมชนได้งบมา 2,250,000 บาท แบ่งเป็นค่าแรงงานชาวบ้าน 1.1 ล้านบาท และค่าวัสดุอีก 1.1 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายค่าแรงชาวบ้านเรียบร้อยหมดแล้ว และปิดโครงการแล้ว
ค่าวัสดุอุปกรณ์โครงการดังกล่าว เขาเบิกจ่ายกันตั้งแต่ของยังมาไม่ถึงชาวบ้านแล้ว โดยเครื่องพ่นยาสะพายหลังที่มีการจัดซื้อ 13,000 บาท/เครื่อง นั้น สเปคจริง ๆ มีราคาอยู่ที่ 11,000 บาท แต่เครื่องพ่นยาที่ชาวบ้านได้มาใช้กลับเป็นตัวที่มีราคา 3,000 กว่าบาทเท่านั้น ทำให้กลุ่มยังไม่รับมอบพัสดุ
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลหนังสือร้องเรียนการทุจริตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ในหมู่ที่ 9 ตำบลและอำเภอ ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านยื่นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2560 มาเสนอ ดังนี้
หนังสือร้องเรียนดังกล่าวระบุว่า
ตามที่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน โดยการอุดหนุดเงินงบประมาณให้กับกลุ่มเกษตรกรในชุมชนที่รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา ซึ่งกลุ่มเกษตรกรชุมชนในหมู่ที่ 9 ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง ได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานเกษตร จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 2,500,000 บาท ซึ่งการดำเนินการโครงการจะมีสำนักงานเกษตร อ.ลาดบัวหลวง เป็นผู้รับผิดชอบ และประสานงานกับเกษตรกรในพื้นที่ผ่านผู้นำชุมชน มีการทำประชาคมเพื่อตั้งคณะกรรมการในระดับชุมชน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ได้เป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นกรรมการระดับชุมชน มีหน้าที่กำกับ ดูแล การดำเนินการของกลุ่มสมาชิกในชุมชน (กลุ่มย่อย) โดยชุมชนหมู่ที่ 9 ต.ลาดบัวหลวง ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสมาชิกในชุมชน (กลุ่มย่อย) จำนวน 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มผลิตสารชีวภัณฑ์หมู่บ้านดอน ได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 2,250,000 บาท และ
2.กลุ่มเลี้ยงปลาหมอในบ่อดิน ได้รับเงินอุดหนุน 250,000 บาท
โดยทั้งสองกลุ่มจะมีคณะกรรมการดำเนินการของตัวเอง โดยการเลือกของสมาชิกในกลุ่ม
ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยฯ และ หจก.แห่งหนึ่ง ได้ร่วมกันทำการทุจริตในโครงการผลิตสารชีวภัณฑ์ หมู่บ้านดอน ในขั้นตอนการจัดซื้อวัสดุ โดยในช่วงเวลาประมาณปลายเดือน ก.ค.2560 ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยฯ ได้ไปติดต่อและตกลงกับ หจก.ดังกล่าว ที่จะซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในโครงการนี้ โดยที่ทั้ง 2 คนมิได้เป็นกรรมการผู้มีหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มฯ แต่อย่างใด และได้ให้ หจก.ดังกล่าวเป็นผู้จัดทำเอกสารประกอบการจัดซื้อเองทั้งหมด จากนั้น นำเอกสารการจัดซื้อที่ทำขึ้นส่งให้สำนักงานเกษตร อ.ลาดบัวหลวง เป็นผู้ตรวจสอบก่อนทำการเบิกจ่าย หลังจากนั้น ประธานกลุ่มผลิตสารชีวภัณฑ์ฯ ได้เป็นผู้ลงนามในใบเสนอราคาและใบสั่งซื้อที่จัดทำขึ้น
ต่อจากนั้น ผู้ใหญ่บ้านจึงให้กรรมการผู้มีอำนาจถอนเงินของกลุ่มฯ จำนวน 5 คน ซึ่ง 3 ใน 5 คน นั้น เป็นคนใกล้ชิดของผู้ใหญ่บ้าน คือ ภรรยา น้องชาย และลูกของพี่สาว ทำการถอนเงินจากบัญชีธนาคาร ธกส. สาขาลาดบัวหลวง และจ่ายเงินโดยการโอนให้กับ หจก.ดังกล่าว เป็นจำนวน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 โดยที่ยังไม่ได้รับสินค้า หรือวัสดุอุปกรณ์ที่สั่งซื้อโดยครบถ้วน แต่อย่างใด
ต่อมา เมื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มฯ ได้รับเอกสารการจัดซื้อจากประธานกลุ่มฯ จึงทำให้ทราบว่า ใบเสนอราคาและใบสั่งซื้อมีความผิดปกติ คือ ไม่มีการกำหนดรายละเอียดของสินค้าที่สั่งซื้อไว้ เช่น รายการวัสดุพืชผลทางการเกษตรสำหรับประกอบการทำน้ำหมักชีวภาพ ไม่มีการกำหนดชนิด ประเภท จำนวน ปริมาณ หรือน้ำหนักไว้ และรายการเครื่องพ่นยาก็ไม่มีการระบุ ยี่ห้อ รุ่น หรือสเปคของเครื่องไว้ แต่อย่างใด
และเมื่อนำสินค้าประเภทพืชผักมาส่งให้คณะกรรมการก็ไม่มีการชี้แจงจำนวนหรือน้ำหนักให้ทราบ โดย หจก.ดังกล่าวได้อ้างว่าในใบสั่งซื้อไม่ได้ระบุไว้ คณะกรรมการโดยประธานกลุ่มฯ จึงได้ทำหนังสือถึง หจก.ดังกล่าว ให้ชี้แจงรายละเอียด ชนิด และปริมาณของพืชผักผลไม้ที่จะใช้ทำน้ำหมักในแต่ละสูตรว่ามีอะไร และจำนวนเท่าใด ต่อมา หจก.ดังกล่าวได้ทำหนังสือชี้แจงตอบกลับมา จึงทำให้กลุ่มฯ ทราบว่า พืชผักผลไม้ที่ส่งมา นั้น มีราคาแพงกว่าปกติหลายเท่า เมื่อเทียบกับราคาในท้องตลาด ซึ่งหลังจากการคำนวณราคาของพืชผักและวัสดุ อุปกรณ์ (ถังพลาสติก) ที่ใช้ทำน้ำหมักแล้ว ทำให้ทราบส่วนต่างของราคาเป็นเงินประมาณ 225,600 บาท
และต่อมา เมื่อประมาณวันที่ 18-20 ส.ค. 2560 หจก.ดังกล่าวได้นำเครื่องพ่นยามาส่งมอบให้กลุ่มฯ ตามใบสั่งซื้อ แต่ไม่มีกรรมการคนใดรับมอบเครื่องไว้ ทาง หจก.จึงได้ฝากเครื่องพ่นยา จำนวน 45 ตัว ไว้ที่บ้านสมาชิกกลุ่มฯ รายหนึ่ง ต่อมา สมาชิกกลุ่มฯ ได้เปิดกล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อดูตัวเครื่องจึงพบว่า เครื่องที่นำมาส่งเป็นเครื่องที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมกับราคา ตามที่ หจก.ได้กล่าวอ้างไว้ว่า เป็นเครื่องพ่นยา ยี่ห้อมิตซูบิชิ ของแท้ ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น
แต่จากการตรวจสอบของกรรมการและสมาชิกกลุ่มฯ ซึ่งมีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับเครื่องพ่นยาอยู่บ้าง พบว่า เป็นเครื่องที่ประกอบขึ้นเอง โดยใช้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผลิตจากประเทศจีน เป็นชิ้นส่วนที่ไม่มีคุณภาพ และเครื่องบางตัวยังประกอบไม่เรียบร้อย มีชิ้นส่วนอะไหล่ไม่ครบ ไม่สามารถใช้งานได้ จากการประเมิณราคาเครื่องโดยเทียบกับราคาร้านจำหน่ายใน อ.ลาดบัวหลวง ทำให้ทราบว่าเครื่องพ่นยาดังกล่าว มีราคาขายในท้องตลาดประมาณ 2,700-3,000 บาทเท่านั้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการ รวมถึงสมาชิกกลุ่มฯ จึงทำเรื่องร้องเรียนมาเพื่อขอให้ท่านได้โปรดดำเนินการให้ คือ
1.ติดตามขอเงินของกลุ่มคืนจาก หจก.รายนี้ จากส่วนต่างของราคาสินค้าและค่าเครื่องพ่นยาที่ยังไม่ได้รับมอบเป็นจำนวนเงิรรวมประมาณ 810,600 บาท
2.ดำเนินการตามกฎหมายกับ หจก.ดังกล่าว ฐานฉ้อโกงประชาชน
3.ดำเนินการทางวินัยกับ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.ลาดบัวหลวง ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา (ดูเอกสารประกอบ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560 นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศราว่า ทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เกี่ยวกับกรณีที่สัญญาซื้อขายไม่ได้กำหนดรายละเอียดสินค้า และมีราคาแพงเกินความเป็นจริง ทั้งนี้ ได้คุยกับทางเกษตรอำเภอ และได้สั่งให้เอกชนชี้แจงเรื่องดังกล่าวมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยแล้ว
“ตอนนี้ชาวบ้านผู้ร้องเรียนยังไม่ได้ใช้ของที่ได้รับ ผมได้สั่งให้ทางเกษตรอำเภอเป็นผู้ดำเนินการเปรียบเทียบราคาซื้อขายในสัญญากับราคาท้องตลาดว่าเป็นอย่างไร มีความแตกต่าง หรือมีราคาสูงเกินความเป็นจริงตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ ทั้งนี้ ทางเอกชนยืนยันว่า สินค้าที่จัดส่งให้ชาวบ้านมีราคาเหมาะสมแล้ว จึงสั่งให้ชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย” นายอำเภอลาดบัวหลวง กล่าว
สำนักข่าวอิศรา ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา เพื่อสอบถามข้อมูลเรื่องนี้เช่นกัน ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน้าห้องผู้ว่าฯ อยุธยา ว่า “ผู้ว่าฯ ทราบเรื่องร้องเรียนโครงการ 9101 ของ อ.ลาดบัวหลวง แล้ว และได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว โดยมีเกษตรจังหวัดเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้”
EmoticonEmoticon