นักประวัติศาสตร์ นิสิตนักศึกษา นักการเมือง ร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ‘ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ’ นักต่อสู้ผู้เคยเข้าป่าในยุค ‘เดือนตุลา’ สู่นักวิชาการผู้ขยายพรหมแดนมากกว่าประวัติศาสตร์ไทย ล่าสุดเตรียมตีพิมพ์ประวัติศาสตร์โปรตุเกส
ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีพิธีรดน้ำศพ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งครอบครัวโดยรองศาสตราจารย์บาหยัน อิ่มสำราญ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภรรยาของ ดร.สุธาชัย จะตั้งศพสวดอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 27 กย.60 – 1 ตค. 60 ที่วัดหัวลำโพง ศาลา 2
ผู้มาร่วมพิธีประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ , นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ และนักกิจกรรมรวมถึงประชาชนผู้ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวภายหลังร่วมพิธีรดน้ำศพว่า “รู้สึกเสียใจและน่าเสียดายมากที่อาจารย์สุธาชัย จากเราไปเร็วมากๆ ถึงแม้จะรู้ว่าอาจารย์เจ็บไข้ได้ป่วยไม่น้อย เคยมาเยี่ยมก่อนหน้านี้ก็ยังดูกระชุ่มกระชวยอยู่และยังพูดฝากฝังอะไรไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานชิ้นสุดท้ายทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผมเข้าใจว่า อาจารย์เขียนเกือบจะจบ คือประวัติศาสตร์ โปรตุเกส ได้ส่งไฟลล์มาให้ผมแล้วทั้ง 2 ไฟลล์ อันนี้ถือว่าเป็นงานของอาจารย์สุธาชัยที่นอกเหนือจากงานด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ซึ่งได้ขยายพรมแดนไปประวัติศาสตร์โปรตุเกส ผมเข้าใจว่างานเช่นนี้ในภาษาไทยมีน้อยมากๆ หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ อันนี้เป็นความน่าเสียดายและความสูญเสียที่อาจารย์สุธาชัยจากเราไป
ในอีกประเด็นหนึ่ง อาจารย์สุธาชัยกับผม เรารู้จักกันมานานแล้วในฐานะที่อาจารย์สุธาชัยก็เคยเรียนกับผมที่ธรรมศาสตร์ แต่ว่าในตอนหลังเราได้มาเป็นกรรมการของมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ด้วยกัน โดยส่วนตัวผมหวังว่อาจารย์สุธาชัย จะเป็นคนดูแลเรื่องมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ต่อไป เพื่อดูแลเรื่องบ้านและที่ดินของครอบครัวจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งตกเป็นของมูลนิธิฯ รวมทั้งการตีพิมพ์หนังสือที่เป็นงานนิพนธ์ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาจารย์สุธาชัย จะต้องเป็นกำลังสำคัญ
เพราะฉะนั้น ในความเสียใจของผม มันมีมากไปกว่าการสูญเสียนักประวัติศาสตร์คนร่วมอาชีพเดียวกัน แต่พูดได้ว่าเป็นการสูญเสียคนที่มีอุดมการณ์หลายอย่างเกี่ยวกับประเทศชาติและประชาชนคล้ายๆ กัน”
ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึง ดร.สุธาชัย ในมุม “คนเดือนตุลา” ว่า “ได้เห็นการเคลื่อนไหวของอาจารย์สุธาชัย ตั้งแต่ในสมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งเราเรียกว่าคนเดือนตุลา ไม่ว่าจะตุลาปี 16 หรือ ตุลาปี 19 เพราะสมัยนั้นผมเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และตามมาด้วยช่วงที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี 2 ปี ผมร่วมอยู่ในทีมบริหารอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงอยู่ในกระบวนการที่เราทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา ตอนนั้นพยายามที่จะทำให้สังคมไทยของเราและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงนั้นผ่านวิกฤตไปให้ได้โดยดี แต่ต่อมาก็เป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่เราทราบกันดี เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นการประกอบอาชญากรรมของรัฐไทย
คนอย่างอาจารย์สุธาชัย คนอย่างอาจารย์เกษียร เตชะพีระ และจำนวนมากก็แตกกระสานซ่านเซ็นไป ต้องออกจากเมืองไปหาความยุติธรรมในป่า ร่วมถึงคนรุ่นราวคราวเดียวกันไม่ว่าจะเป็น ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ต้องติดคุกติดตารางไป อันนั้นเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้าโศกวิปโยคไม่น้อย
อาจารย์สุธาชัย ก็เป็น 1 ในนักศึกษาระดับนำ เมื่อในกรุงไม่มีความยุติธรรม คนหนุ่มคนสาวรุ่นนั้นก็ไปหาความยุติธรรมในป่า แล้วเมื่อสถานการณ์พลิกกลับ มีการนิรโทษกรรม อาจารย์สุธาชัยก็กลับมาเรียนหนังสือใหม่ แล้วก็ไปเรียนต่อจนได้ ปริญญาเอก ซ้ำยังขยายพรมแดนความรู้ของตัวเองไปสู่การศึกษาว่าด้วยประเทศในกลุ่มลาตินอย่างในกรณีของโปรตุเกส สเปน ต้องเรียกว่าอาจารย์สุธาชัยเป็นทั้งนักกิจกรรมที่มีความคิดในการปฏิวัติ เป็นทั้งนักวิชาการที่มีความรู้กว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง เท่าที่ผมได้เห็นมาในคนรุ่นเดือนตุลา” ดร.ชาญวิทย์กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า เราสูญเสียนักวิชาการที่มีความสามารถโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ไปอีกท่านหนึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า อาจารย์สุธาชัย เป็นผู้มีความรอบรู้หรือสันทัดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ แต่น้อยคนที่จะทราบว่าอาจารย์สุธาชัยไปเรียนต่อทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสโดยเฉพาะ มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์โปรตุเกสเป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่โปรตุเกสออกมาแสวงหาเส้นทางการค้าสินค้าเครื่องเทศอะไรต่ออะไรต่างๆ อาจจะเรียก the age of exploration ก็ได้ โปรตุเกสเข้ามามีบทบาทในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นสำคัญ อาจารย์สุธาชัยมีความรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี รู้เกี่ยวกับเรื่องโปรตุเกส รู้เกี่ยวกับลักษณะของเรือสินค้าต่างๆ แต่น้อยคนที่จะทราบว่าอาจารย์มีความรู้ด้านนี้
ความรู้ของอาจารย์สุธาชัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นกรณี 6 ตุลา 19 อาจารย์ก็รู้เรื่องนี้อย่างแตกฉาน แต่ความสนใจประวัติศาสตร์ของอาจารย์สุธาชัยยังย้อนไกลไปได้มากกว่านั้น อาจารย์ยังเคยมีบทความที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องพม่าด้วยเป็นการวิเคราะห์หนังสือที่มีชื่อเสียง ต้องถือว่าเราสูญเสียบุคคลสำคัญคนหนึ่งในทางด้านประวัติศาสตร์ในระดับชาติ
ที่มา: Voice TV
EmoticonEmoticon