วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

"ณัฏฐิกา" แอดมินเพจ "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์" เชื่อถูกจับเพราะทหารต้องการ "เชือดไก่ให้ลิงดู"

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ หนึ่งในแอดมินเพจ "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์" เปิดเผยถึงสาเหตุของการลี้ภัยไปสหรัฐฯ หลังจากสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรมของไทย
ภาพตัดต่อของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขี่นกหัวขวาน และภาพที่กำลังย่อตัวลงเพื่อลอยกระทงแล้วตกน้ำ เป็นหนึ่งในหลายร้อยภาพตัดต่อที่ถูกแชร์ในเพจ "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งมีผู้ติดตามราว 80,000 คนก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ปิดตัวลงหลังจากที่ผู้ดูแลเพจทั้ง 8 คนถูกจับกุมตัวไปที่ค่ายทหาร และต่อมาถูกส่งตัวมายังกองบังคับการปราบปราม เมื่อเดือน เม.ย. 2559 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา "ยุยงปลุกปั่น" และ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"


ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ผู้ก่อตั้งและหนึ่งในผู้ดูแลเพจดังกล่าว ไม่เคยคิดมาก่อนว่าการล้อเลียนและเสียดสีผู้นำประเทศของเธอ จะทำให้เธอต้องติดคุก จนนำไปสู่การตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่เธอได้รับการประกันตัวออกมา
"เราเป็นพลเรือนแต่เราขึ้นศาลทหาร ผู้พิพากษาและอัยการ ซึ่งเป็นโจทก์ และพยานทุกอย่างเป็นทหาร ฟ้องโดยทหาร แล้วพี่จะเอาอะไรไปสู้เขา" เธอกล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ จากเมืองหนึ่งในสหรัฐฯ
ไม่มั่นใจในระบบยุติธรรม
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศหลังทำการรัฐประหาร เป็นวันที่ณัฏฐิกาตัดสินใจสร้างเพจในเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อว่า "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์"
"ณ เวลานั้น สิ่งหนึ่งที่คนไทยโดนเหมือนกันคือถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถออกไปแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ตามปกติ…เราเลยบอกว่าเรารักหัวหน้า คสช. ละกันจะได้ไม่ถูกเพ่งเล็ง" หญิงวัย 44 ปี กล่าว "ด้วยความที่ทุกคนถูกกด จำกัดสิทธิเสรีภาพ เขาทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้หรอก ออกมาด่าไม่ได้หรอก แค่ออกมาขำ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ ปัจจุบันไม่ได้มีความรุนแรง เขาใช้ความสร้างสรรค์ทั้งนั้น ทางออกของแรงกดดันจึงไม่ใช่การตีกันเหมือนสมัยก่อน มันมีทางออกอื่น เช่น ตัดต่อรูปขำกัน แต่คนที่ปกครองประเทศเป็นคนรุ่นเก่า คุณยังคิดว่าการลงโทษหนัก ๆ มันทำให้ประเทศดีขึ้นเหรอ"
ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์Image copyrightMYRA SANGAWONGSE
คำบรรยายภาพณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์
เธอมองว่าการจับกุมครั้งนี้เป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" เนื่องจากมีเพจจำนวนมากที่ปิดตัวไปเองหลังจากนั้น และจังหวะนั้นกำลังจะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 ในเดือน ส.ค. จึงทำให้คนในสังคมโซเชียลต่างเงียบลง
ผู้ดูแลเพจทั้ง 8 คนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ในขณะที่ณัฏฐิกาและหฤษฏ์ มหาทน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มเติม จากข้อความที่คุยกันผ่านเฟซบุ๊กแชท ซึ่งณัฏฐิกาอ้างว่า ได้ถูกตัดต่อเป็นช่วง ๆ
เมื่อเข้าค่ายทหาร ณัฏฐิกาอ้างว่าเธอถูกบังคับให้บอกพาสเวิร์ดเฟซบุ๊ก และมีการยึดมือถือ คอมพิวเตอร์ รูปภาพ และฮาร์ดดิสก์ โดยไม่ได้รับคืน ณัฏฐิกาถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 71 วัน จนกระทั่งได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2559 แต่เธอก็ยังมีอาการเครียดและวิตกกังวลมากจนถึงขั้นนอนไม่หลับ เมื่อใกล้ถึงวันที่จะต้องขึ้นศาล
ณัฏฐิกาพร้อมผู้ต้องหาคดี "8 แอดมิน" อีก 7 คนImage copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพณัฏฐิกาพร้อมผู้ต้องหาคดี "8 แอดมิน" อีก 7 คน
กระทบทุกคน
ในอดีตณัฏฐิกาเคยทำงานฟรีแลนซ์ (พนักงานไม่ประจำ) ด้านการตลาดดิจิตอล แต่หลังจากเธอได้รับการประกันตัว ก็ไม่กล้าที่จะไปสมัครงานที่ไหน เนื่องจากเธอมั่นใจว่าคงไม่มีบริษัทไหนรับคนที่ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าทำงาน
เธอเล่าว่าการถูกจองจำของเธอส่งผลกระทบต่อแม่มากกว่าเธอเสียอีก โดยแม่ของเธอมีอาการมึนงง และจำอะไรไม่ได้ในช่วงแรก ๆ ที่เธอออกมาจากเรือนจำ
"เดิมพี่จะนึกถึงแต่ตัวเองว่าตัวเราจะทำไงต่อไป แต่มันกระทบทุกคนเลย เพื่อนฝูงด้วย คือ ทุกคนมีความเป็นห่วง แล้วทุกคนไม่อยากเห็นภาพนั้นอีก จนพี่คิดว่าถ้าเราจะไม่ติดคุกอีก มีสองหนทางคือชนะคดีกับหนี เราจะเชื่อมั่นขบวนการยุติธรรมได้ไหม" ณัฏฐิกากล่าว "แม่พี่ไม่มีความสุขเลยอยู่เมืองไทย สมมุติอยู่ไทยกลับดึก แม่โทรตามแล้ว ความรู้สึกที่ทหารล็อคตัวหลอนเขา เขานอนไม่หลับ กลัวจะมีคนล็อคตัวอีก"
ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์Image copyrightNUTTIGAR WORATUNYAWIT
คำบรรยายภาพณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์
เกือบ 1 ปีหลังจากที่ณัฏฐิกาได้รับการประกันตัว เธอตัดสินใจเดินทางออกจากไทยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ปีที่แล้ว มาถึงสหรัฐฯ วันที่ 18 ส.ค. โดยบอกเพียงคนสนิท และได้เปิดเผยว่าย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในช่วงท้าย ๆ ของการอยู่เมืองไทย เธอพยายามอยู่กับครอบครัวและเพื่อนสนิทให้มากที่สุด และไปไหว้พระที่วัดหลายแห่ง
"พี่ตัดใจแล้วว่าพี่อาจจะไม่ได้กลับเมืองไทยอีก แล้วเวลาคุยกับใครพี่จะบอกว่าฉันจะไม่ได้เจอกับแกในชาตินี้ เวลาพี่ขับรถ ก็คิดในใจว่า ฉันคงไม่ได้ขับบนเส้นนี้อีกแล้ว" เธอกล่าว
ขอสถานะผู้ลี้ภัย
ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ และ จอม เพชรประดับImage copyrightMYRA SANGAWONGSE
คำบรรยายภาพณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ และ จอม เพชรประดับ
ปัจจุบันณัฏฐิกาทำงานโดยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง และตอนนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมเอกสารในการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติ (United States Citizenship and Immigration Services หรือ USCIS) โดยมีอดีตผู้สื่อข่าวอย่าง จอม เพชรประดับ คอยให้คำปรึกษาในฐานะผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากที่ คสช. ได้เรียกตัวเขาเพื่อเข้ารายงานตัวด้วยคำสั่ง คสช. 82/2557
ณัฏฐิกากล่าวว่า เธอจะยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในฐานะที่ถูกรัฐบาลคุกคาม เนื่องจากเธอติดคุกด้วยคดีที่ไม่สมเหตุสมผล และหากอยู่ในประเทศไทยต่อไป จะมีความเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับเข้าไปในคุก โดยสาเหตุที่เลือกที่จะลี้ภัยที่สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน และให้เสรีภาพในเรื่องการทำงาน
"มันทิ้งความกังวลในเรื่องเก่าว่าเราคงไม่ได้ติดคุกอีกแล้วในชาตินี้ แต่อาจกังวลเรื่องการใช้ชีวิตแทน ซึ่งมันสู้ได้ แต่ความกังวลเดิมจากการติดคุกเราไม่ได้เป็นคนควบคุมว่าฉันต้องทำไงก็ได้ไม่ให้ติดคุก" เธอกล่าว "ตราบใดที่ใจเราสู้เราอยู่ได้ มันมีความหวังเสมอ…ประเทศนี้เป็นประเทศแห่งความหวัง มีความหวังในทุกซอกทุกมุมของประเทศ"
จำกัดสิทธิเสรีภาพ?
ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์Image copyrightMYRA SANGAWONGSE
คำบรรยายภาพณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์
ณัฏฐิกากล่าวว่า แม้ว่า คสช. อาจจะมีความพยายามที่จะปรองดองมากขึ้นก่อนที่จะปูทางไปสู่การเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงมีอำนาจปกครองประเทศใน "ฉากหลัง" เหมือนเดิม ดังนั้น สถานการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพก็คงจะไม่ดีขึ้น
บีบีซีไทยได้พยายามติดต่อทีมโฆษก คสช. ตั้งแต่เมื่อวาน เพื่อสอบถามถึงกรณีของณัฏฐิกา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงบทบาทในการดำเนินงานของ คสช. ในปีนี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายของ คสช. จะใช้กฎหมายตามปกติ ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และยืนยันว่าจะไม่ทำอะไรที่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ ทั้งสิ้น
โดยในรอบปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้วาระแห่งชาติเรื่อง "สิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งเสนอจากกระทรวงยุติธรรม โดยมีหลักการให้ส่วนราชการต่างๆ ปรับปรุงทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และมุ่งลดสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน


EmoticonEmoticon

ที่ดินทรัพย์สินส่วนสาธารณประโยชน์ และที่ดินกว่า 2600 ไร่ ขุมทรัพย์หลายแสนล้าน กลางกรุง!

ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู...

กลับไปหน้าแรก