".... เราจะปล่อยให้การเมืองและชะตากรรมของประเทศไทยอยู่ในมือของรัฐราชการ รัฐทหาร รัฐศาล และคนสูงอายุ 70-80 ไม่ได้
Piyabutr Saengkanokkul
ถ้าหากคนเหล่านี้ ทันสมัย ทันโลก สนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ก็คงดี แต่ผ่านมาหลายสิบปี ผ่านรัฐประหารมาหลายครั้ง ก็พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น
มีแต่ต้องปล่อยให้ "คนรุ่นใหม่" ลงมาทำเท่านั้น ประเทศนี้จึงจะเปลี่ยนแปลงได้
ความพร้อม การรอคอยจนได้เวลาจังหวะ อาจช่วยให้ทำงานการเมืองได้สบายขึ้น ง่ายขึ้น แต่บางครั้ง ความพร้อมและห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ อาจไม่เกิด อาจมาไม่ถึง และถ้าคิดว่าไม่พร้อม ไม่ถึงเวลา มันก็จะไม่พร้อม และไม่ถึงเวลา ตลอดไป
อย่าปล่อยให้คำว่า "คนรุ่นใหม่" กลายเป็นแค่ "กระแส" ในสังคมออนไลน์
ต้องลงมือทำ ร่วมกันทำ เพื่อพิสูจน์ว่า "คนรุ่นใหม่" คือ พลังของการเปลี่ยนแปลง ...."Piyabutr Saengkanokkul
ในยุคปัจจุบัน พรรคการเมืองของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป มีคนรุ่นใหม่ คนอายุ 25-40 ปี จากหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายแวดวง เข้ามาร่วมงานมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย มีแนวโน้มเรื่องนี้ไม่มากนัก ทั้งๆที่ ทุกวันนี้ เราได้ยินได้ฟังคำว่า "คนรุ่นใหม่" อยู่ในกระแสตลอดเวลา?
แน่นอน สังคมไทยมอง "การเมือง" ในแง่เลวร้าย สกปรก มีแต่แก่งแย่งแข่งขัน โต้วาทีเสียดสีไปมา แต่ผมคิดว่า ประเด็นนี้ค่อยๆลดทอนลงไป ยิ่งถ้า "คนรุ่นใหม่" เห็นว่า "การเมือง" เลวร้าย ทางแก้ที่ได้ผล ก็คือ ต้องลงมาช่วยกันทำให้ "การเมือง" ดีขึ้น การปล่อยให้มันเลวร้ายต่อไป แล้วเป็นผู้ชมผู้สังเกตการณ์ที่คอยทับถมแต่อย่างเดียว คงไม่ช่วยอะไร
ปัญหาต่อมา ถ้าหากต้องการเข้ามาทำงานทางการเมืองจริง กติกาของประเทศไทยที่เป็นอยู่ก็ไม่เอื้ออำนวยมากเท่าไรนัก โดยเฉพาะ การต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงอาชีพ จะทำอย่างไร? อะไรคือหลักประกันในอนาคต? ในขณะที่การเมืองในยุโรปมีช่องทางให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปมีบทบาทมากกว่า
ผมคิดว่า การเมืองสัมพันธ์กับ passion หรือ "แรงปรารถนา" ถ้า "คนรุ่นใหม่" มีแรงปรารถนาจริง มีแรงขับผลักดันตนเองให้ลงมาทำประโยชน์ให้สังคมจริง หรือพูดง่ายๆก็คือ คนเจเนเรชั่นนี้ต้องการสร้าง legacy ฝากไว้ในแผ่นดินว่า อย่างน้อยช่วงชีวิตของตนได้ทิ้งอะไรไว้ที่เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงไว้บ้าง ถ้าคิดเช่นนี้ กติกาที่เป็นอุปสรรคทั้งหลาย ก็จะเป็นเรื่องเล็กทันที
อาจยากลำบาก หงุดหงิดกับเรื่องหยุมหยิม เรื่องไม่เป็นเรื่องที่ระบอบนี้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา แต่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงก็จำต้องอดทน และหาช่องทางใช้กติกาที่เป็นอยู่เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้
บางที การวัดขนาดของหัวใจ การวัดพลังของความมุ่งมั่น ก็คือเรื่องพรรค์นี้แหละ
คนที่เริ่มต้นขุด แผ้วทาง ย่อมลำบาก แต่ถ้าก่อร่างสร้างทางได้สำเร็จ นี่คือ legacy ดังเช่น คนรุ่นก่อนๆเคยฝาก legacy ไว้
กรณีที่เราอาจยกเป็นตัวอย่างได้ก็คือ คณะราษฎร ในเวลานั้น สมาชิกแกนนำแต่ละคนอายุน้อย จบการศึกษาจากต่างประเทศ ตำแหน่งหน้าที่การงานดี หาก "อยู่เป็น" ไปเรื่อยๆ ก็คงสบายกลายเป็นชนชั้นนำ แต่พวกเขากลับตัดสินใจ "เสี่ยง" และ "เดิมพัน" อนาคต เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ข้อที่ควรพิจารณาในประการสุดท้าย คือ เราจะทำอย่างไร ให้การทำงานการเมือง การเข้าสู่วงการการเมือง เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องขั้นตอนตามลำดับ เมื่อสนใจการเมือง มีความมุ่งมั่น มีแรงปรารถนา ในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีงาม การเข้าสู่การเมือง ก็คือ วิถีทางในการทำให้ความคิดบังเกิดผล
ประเทศไทย มีกระบวนการ "ถอดถอนความเป็นการเมือง" มาต่อเนื่อง มีกระบวนการทำลายลดทอนความชอบธรรมของ "การเมือง" มาตลอด กระบวนการเหล่านี้ ทำให้ระบบบูโรแครต ระบบเทคโนแครต ระบบรัฐซ้อนรัฐ ทำงานได้สบาย ในขณะที่การเมืองต่างหากที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนได้แสดงศักยภาพ
เราจะปล่อยให้การเมืองและชะตากรรมของประเทศไทยอยู่ในมือของรัฐราชการ รัฐทหาร รัฐศาล และคนสูงอายุ 70-80 ไม่ได้
ถ้าหากคนเหล่านี้ ทันสมัย ทันโลก สนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ก็คงดี แต่ผ่านมาหลายสิบปี ผ่านรัฐประหารมาหลายครั้ง ก็พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น
มีแต่ต้องปล่อยให้ "คนรุ่นใหม่" ลงมาทำเท่านั้น ประเทศนี้จึงจะเปลี่ยนแปลงได้
ความพร้อม การรอคอยจนได้เวลาจังหวะ อาจช่วยให้ทำงานการเมืองได้สบายขึ้น ง่ายขึ้น แต่บางครั้ง ความพร้อมและห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ อาจไม่เกิด อาจมาไม่ถึง และถ้าคิดว่าไม่พร้อม ไม่ถึงเวลา มันก็จะไม่พร้อม และไม่ถึงเวลา ตลอดไป
อย่าปล่อยให้คำว่า "คนรุ่นใหม่" กลายเป็นแค่ "กระแส" ในสังคมออนไลน์
ต้องลงมือทำ ร่วมกันทำ เพื่อพิสูจน์ว่า "คนรุ่นใหม่" คือ พลังของการเปลี่ยนแปลง
EmoticonEmoticon