"...จึ่งพลัดมาไกล ทิ้งไว้โรยรา..."
ต้นเดือนมิถุนายนนี้ เป็นวันครบ 2 ปี ที่ผมเดินออกจากประเทศไทย
ผมใช้คำว่า "เดิน" (ไม่ใช่ "เดินทาง") อย่างจงใจ เพราะวันนั้น ผมใช้เวลาราว 6 ชั่วโมง เดินขึ้นๆ ลงๆ บนยอดของเทือกเขาแห่งหนึ่งออกจากประเทศไทย เป็นการเดินที่เหนือยที่สุดในชีวิต ถึงตอนท้ายเมื่อใกล้จุดหมาย ขาผมเกือบไม่เหลือแรงจะยืนหรือเดินต่อเลย...
ระหว่างทางเดิน ก็พยายามบอกตัวเองแบบขำๆ ว่า สมัยหนุ่มหลัง 6 ตุลา ผมไม่ได้เข้าป่า เพราะติดคุก เพิ่งมามีโอกาสเข้าป่าเดินเขาตอนแก่นี่เอง
ในระหว่าง 6 ชั่วโมงนั้น มีบางช่วงฝนตกพรำๆ ลงมา ทำให้ทางเดินลำบากขึ้นอีก ผมลื่นไถล ล้มหลายครั้ง จนเนื้อตัวเสื้อผ้าเปรอะเปื้อนดินโคลนไปหมด หลายช่วงของเส้นทาง เป็นทางเดินแคบๆขอบเขา ผมก็นึกขำๆ กับตัวเองว่า ถ้าผมบังเอิญพลัดตกไป คอหักตาย ก็คงน่าสนใจพิลึก (คิดจริงๆ คือมันเหนื่อยมากน่ะ ก็พยายามคิดอะไรตลกๆ กับตัวเองแก้เหนื่อย)
ตลอด 6 ชั่วโมงบนยอดเขา แทบไม่มีช่วงที่เป็นพื้นราบเลย มีแต่จังหวะชันขึ้น หรือชันลง (จังหวะชันลงนี่ไม่ใช่เดินง่าย กลับยากกว่าอีก เพราะต้องคอยเกร็งขา จิกพื้นไว้ ไม่ให้ลื่นไถลพรวดลงมา)
บางช่วง มีปลิงลอดเสื้อผ้าเข้ามาเกาะกินเลือดตามตัว (แม้จะพยายามระวังแล้ว) เสื้อเชิ้ตตัวที่ผมใส่วันนั้น ทุกวันนี้ ยังพอเห็นรอยคราบเลือดเป็นหย่อมๆ เพราะซักไม่ออก เนื่องจากมีช่วงหนึ่ง ปลิก 3-4 ตัวมุดเข้ามาถึงกลางหลัง ดูดเลือดผมสักพักใหญ่กว่าผมจะรู้สึกตัว มีเลือดซึมเสื้อเปียกฝนเปียกเหงื่อเป็นดวงแล้ว ....
ปารีส
เวลา 01:52 น
22 มิถุนายน 2016(2559) (วันเกิดอาจารย์)
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
เมื่อครั้ง เป็นจำเลยคดี 6 ตุลา
ภาพเก่ามาเล่าเรื่อง
เวลา 01:52 น
22 มิถุนายน 2016(2559) (วันเกิดอาจารย์)
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
การเมืองวัฒนธรรม
เกษียร เตชะพีระ
"บทกวีที่เขาชอบ"
(มติชนสุดสัปดาห์ 3-9 เมษายน 2558)
ท่านผู้สนใจติดตามแวดวงวิชาการและปัญญาชนสาธารณะทางสื่อมวลชนคงพอทราบว่าแม้ผมกับอาจารย์สมศักดิ์เจียมธีรสกุลจะเป็นศิษย์เก่าและอาจารย์ธรรมศาสตร์เหมือนกันทั้งเคยทำกิจกรรมนักศึกษาร่วมกันมาในอดีตสมัย 6 ตุลาคม 2519
แต่เราเห็นแตกต่างไปคนละทางในหลายๆ เรื่อง ได้ถกเถียงวิวาทะกันทางข้อเขียนและเวทีสาธารณะในวาระโอกาสต่างๆ หลายครั้ง
จนเรียกได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน จะหาทางนั่งลงคุยกันดีๆ กินข้าวกินปลาสังสันทน์ฉันเพื่อนมิตรเก่าแก่ก็คงยากที่จะเป็นไปได้
แต่ในบรรดาความเห็นแตกต่างทั้งหลายแหล่ระหว่างกันนั้นแปลกดีกลับมีบทกวีเก่าแก่ของผมบทหนึ่งที่อาจารย์สมศักดิ์แสดงให้รู้ว่าชอบชอบมากทีเดียว...
บทกวีชิ้นนี้ซึ่งเป็นบทปิดท้ายของกลอนแปดยาว9 บทตีพิมพ์เผยแพร่ทางสาธารณะครั้งแรกบนปกหลังของหนังสือ รอยต่อแห่งยุคสมัย (มูลนิธิโกมลคีมทอง, พ.ศ.2526) ซึ่งมีคุณกุลชีพ วรพงษ์ เป็นบรรณาธิการ
หนังสือเล่มนี้บันทึกรวบรวมคำเสวนาของอาจารย์นักคิดนักเขียนทั้งพระและฆราวาสกับนักกิจกรรมนักศึกษากลุ่มหนึ่งในช่วง"แสวงหาครั้งที่สอง"หลังป่าแตกกลางพุทธทศวรรษที่2520 ในหัวข้อต่างๆ เช่น วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์, ศิลปะร่วมสมัยสู่ศิลปะในอนาคต, ความฝันและความเป็นจริงในการประยุกต์ใช้พุทธศาสนาในสังคมไทย, แนวความคิดและปรัชญาทางสังคมของชนชั้นคนงานไทย, ขบวนการนักศึกษา : ข้อจำกัดและข้อผิดพลาด ฯลฯ
ผมได้เข้าไปรู้จักคลุกคลีร่วมพูดคุยถกเถียง เขียนและแปลงาน รวมทั้งทำหนังสือนิตยสารกับแวดวงคนกลุ่มนี้ผ่านการชักชวนของนักกิจกรรมนักศึกษาหญิงรุ่นน้องคนหนึ่ง (ที่ล่วงลับไปแล้วด้วยโรคร้ายก่อนวัยอันควร)
เรารู้จักกันตั้งแต่ก่อน 6 ตุลาคม 2519 และเธอคงเห็นผมเคว้งคว้างว่างเหงาล่องลอยอยู่หลังกลับจากป่ามาคืนสภาพนักศึกษา (โข่ง) ที่ธรรมศาสตร์ ในฐานะ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" เมื่อปี พ.ศ.2524
จึงพาผมไปแนะนำตัวและเข้ากลุ่มทำกิจกรรมทางปัญญากับคณะลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร และ NGOs ด้านการพัฒนาและศาสนาในห้องแถวตรงข้ามซอยสันติภาพที่เป็นบ้านอาจารย์สุลักษณ์ ย่านบางรัก
ที่นี่เองที่ผมได้พบปะเสวนาอย่างเข้มข้นดุเดือดกว้างขวางแต่ก็กันเองและเปิดเผยจริงใจกับเพื่อนมิตรรุ่นเดียวกันและรุ่นน้องต่างความเชื่ออุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นคุณประชาหุตานุวัตร(ต่อมาบวชเป็นพระประชา ปสนฺนธมฺโม), วิศิษฐ์ วังวิญญู, สง่า ลือชาพัฒนพร, ดุษฎี อังสุเมธางกูร (ต่อมาบวชเป็นพระดุษฎี เมธังกุโร), สมชาย อภิวรรณศรี บก.ปาจารยสาร, กุลชีพ วรพงษ์, ปรีดี บุญซื่อ, สันติสุข โสภณศิริ (ก่อนแต่งงานกับคุณรสนา โตสิตระกูล), ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ (เมื่อครั้งยังสนใจค้นคว้าแนวคิดอนาธิปไตย ก่อนมาเป็นกูรูคอมพิวเตอร์ประจำมติชนปัจจุบัน), สุรพล ธรรมร่มดี, พรชัย คุ้มทวีพร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นชัชชัยและเป็นอาจารย์สอนปรัชญาอยู่นานปี), สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล และ สุนีย์ สถาพร (ตั้งแต่ครั้งทั้งสองเป็นคู่หูนักกิจกรรมนิสิตจุฬาฯ ก่อนคุณสุธาดามาเป็นนักเคลื่อนไหวเครือข่ายผู้หญิงและอาจารย์นักวิชาการมหาวิทยาลัย และคุณสุนีย์มาทำงานวิจัยและบริหารที่ TDRI ปัจจุบัน), รวมทั้งเพื่อนนักศึกษาแพทย์และพยาบาลศิริราชอีกสองสามท่าน ฯลฯ
บรรยากาศของการได้เกิดใหม่ทางปัญญาความคิดหลังประสบวิกฤตศรัทธาและความพ่ายแพ้ล่มสลายทางการเมืองผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรต่างแนวคิดความเชื่ออุดมการณ์ช่วยให้ผมฟื้นฟูจิตใจความหวังความมุ่งมั่นในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าความหมายขึ้นมาใหม่
มันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แต่งกลอนแปดชิ้นนั้นขึ้นซึ่งล่าสุดมันถูกนำไปลงพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของผมชื่อมันเป็นเพียงวันนี้เท่านั้นเอง:รวมกาพย์กลอนการเมืองในทศวรรษอันสาบสูญ (สำนักพิมพ์ชายขอบ, 2557, หน้า 83-85)
เนื้อหากลอนทั้งชิ้นสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดหลังป่าแตกและบรรยากาศการแสวงหาครั้งที่สองดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในบทสุดท้ายผมได้ดึงเอาน้ำเนื้อจิตวิญญาณที่ได้จากการอ่านงานเขียนชิ้นหนึ่งของเลออนทรอตสกี้นักปฏิวัติชาวรัสเซีย สหายศึกของเลนิน ผู้บัญชาการกองทัพแดง ซึ่งในชั้นหลังถูกสตาลินส่งนักฆ่าตามล่าสังหารจนสิ้นชีวิตระหว่างลี้ภัยอยู่ในเม็กซิโก (ค.ศ.1879-1940) มาสอดใส่ไว้ด้วยความประทับใจ
ในระหว่างถูกรัฐบาลพระเจ้าซาร์เนรเทศไปไซบีเรียครั้งแรกในฐานะนักโทษการเมืองเมื่อต้นปีค.ศ.1901ทรอตสกี้ในวัยหนุ่มได้เขียนงานสะท้อนทัศนะมองโลกในแง่ดีแบบปฏิวัติของเขาในลักษณะบทสนทนาสมมุติกับคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบซึ่งไล่ต้อนคนอย่างเขาไปจนมุมแทบสิ้นหวังว่า:
"-ยูโทเปียจงฉิบหาย!ศรัทธาจงเสื่อมสลาย!ความรักจงวอดวาย!ความหวังจงพังทลาย! คริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ ประกาศเปรี้ยงออกมาเป็นชุดท่ามกลางเสียงปืนก้องกัมปนาทครืนครัน
- ยอมแพ้เสีย เจ้านักฝันน่าสังเวช! ข้าอยู่นี่แล้ว คริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบที่เจ้ารอคอยมานมนาน "อนาคต" ของเจ้าไง
- ไม่, ผู้มองโลกในแง่ดีตอบ : เจ้า-เจ้าเป็นเพียงปัจจุบันเท่านั้นเอง"
(Isaac Deutscher, ed. The Age of Permanent Revolution : A Trotsky Anthology, 1964, pp.40-41)
บทสุดท้ายของกลอนแปดชิ้นนั้นมีที่มาจากข้อความข้างต้นของทรอตสกี้นี่เอง
ชีวิตหลังเกิดของกลอนบทนี้มี2เรื่องที่น่าสนใจ
เรื่องแรกผมมาทราบว่าอาจารย์สมศักดิ์ชอบกลอนบทนี้พอสมควรเมื่อกว่า 20 ปีให้หลัง โดยเขาได้คัดลอกกลอนบทนี้ไปลงในเว็บบอร์ด www.thaingo.org/webboard เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2547 พร้อมคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ (!) ของเขาเองว่า :
The Traveller announces the News From Nowhere :
"We can create a New Sun with our two hands,
And this darkness over the land
Will disappear tomorrow!"
translated by Somsak Jeamteerasakul
หากให้ผมแปลเอง ก็คงแปลต่างจากเวอร์ชั่นของอาจารย์สมศักดิ์ข้างต้นไปบ้าง แต่จะมากเรื่องมากความไปไย ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว
อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่ามหัศจรรย์ใจกุ้งเอามากๆ (สำนวนอีสาน) คือหลังการเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ราวเดือนเศษ ได้มีเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ส่งภาพถ่ายประกาศกรอบเล็กๆ ที่มีผู้ซื้อเนื้อที่ลงในหน้าโฆษณาของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งมาให้ผมดู
ประกาศนั้นไม่เกี่ยวกับหมายกำหนดงานพิธีหรือบอกซื้อ/ขายสินค้าหรือรับจ้างบริการใดๆหากเป็นกลอนบทสุดท้ายของผมดังกล่าวนั้นเองมันถูกนำไปลงโดยผมไม่รู้มาก่อนเลยพร้อมข้อความกำกับด้านล่างสั้นๆ ว่า :
"ถึงเพื่อนผู้กำลังสิ้นหวัง"
โดยไม่ทราบว่าตอนนี้เขาอยู่ที่ไหนในโลก ผมเดาว่าอาจารย์สมศักดิ์คงระลึกถึงกลอนบทนี้ของผมมากเป็นพิเศษในสถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อครั้ง เป็นจำเลยคดี 6 ตุลา
ภาพเก่ามาเล่าเรื่อง
EmoticonEmoticon